posttoday

สธ.เตรียมคุมบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ในพ.ร.บ.ยาสูบใหม่

04 กรกฎาคม 2556

สธ.เตรียมบรรจุเนื้อหาเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ ในพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ ย้ำการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองช่วยลดผู้สูบบุหรี่

สธ.เตรียมบรรจุเนื้อหาเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ ในพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ ย้ำการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองช่วยลดผู้สูบบุหรี่

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ภญ.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชน 13-15 ปีของไทยพบว่า 31% เคยเห็นโฆษณาบุหรี่ 9.3% มีสิ่งของที่มีตราหรือโลโก้บุหรี่ และร้อยละ 5.5 เคยได้รับบุหรี่ทดลองฟรีจากบริษัทบุหรี่ โดยในประเทศไทยพบร้านค้าที่จหน่ายบุหรี่ รวมกว่า 5 แสนร้านค้า และ 2 แสนร้าน จำหน่ายบุหรี่นำเข้า นอกจากนี้ ยังพบว่า 1 ใน 4 ของอัตราการสูบที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งช่วยทั้งป้องกันผู้สูบหน้าใหม่และผู้ที่สูบอยู่เลิกสูบ

"การห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขาย และสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบ จะลดการบริโภคยาสูบลง อย่างไรก็ตามบริษัทบุหรี่ใช้การโฆษณาแบบใหม่ เช่น การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต การทำแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ การสร้างสังคมผู้สูบบุหรี่ในสังคมออนไลน์ รวมถึงการโพสต์คลิปบนยูทูป สอนการทดลองสูบบุหรี่ ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ จะซึมซับให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กให้เข้าถึงบุหรี่มากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ ให้เป็นปัจจุบัน"ภญ.ปิยะรัตน์ กล่าว

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่บริษัทบุหรี่ฟ้องศาลปกครองให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกเลิกกฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนจาก 55% เป็น 85% โดยอ้างว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนไม่ทำให้ลดการสูบบุหรี่นั้น องค์การอนามัยโลกได้รวบรวมข้อมูลจาก 41 ประเทศ ระหว่าง ปี 2550-2553 ที่ใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลายๆ มาตรการพร้อมกัน พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 14.8 ล้านคน และลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบลงได้ 7.4 ล้านคน โดยเป็นผลจากการขึ้นภาษี 3.5 ล้านคน การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2.5 ล้านคน การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 7 แสนคน การรักษาให้เลิกบุหรี่ 3.8 แสนคน และการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย 3.06 แสนคน ดังนั้นทุกมาตรการจึงต้องนำมาใช้พร้อมกัน และต้องเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละมาตรการดังการขยายขนาดภาพคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพที่สูงสุด

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้อีกหลายเรื่อง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์เลียนแบบบุหรี่ และมีการเติมนิโคตินเหลวทำให้ผู้สูบได้รับปริมาณนิโคตินเข้มข้น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย แต่การนำเข้าพบว่ามีการแยกชิ้นส่วนและขายปลีกจนไม่สามารถทำให้จับกุมได้

นอกจากนี้ ยังมีบารากู่ ที่มีการแยกชิ้นส่วนและใช้วิธีหิ้วเข้าประเทศโดยแสดงว่าเป็นสมุนไพร จึงไม่สามารถจับกุมตัวอุปกรณ์ได้ ทำได้ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมควบคุม นิโคตินเหลว ให้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพื่อทำให้ต้องมีการรายงานเมื่อนำเข้า และป้องกันการลักลอบนำเข้าประเทศ ซึ่งเมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะมีประเด็นที่ครอบคลุมการขายในรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น