posttoday

"ศรีสุริโยทัยโมเดล" ต้นแบบโรงเรียนอาเซียน

04 กรกฎาคม 2556

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ทำให้บรรดาสถาบันการศึกษาต่างตื่นตัวเตรียมความพร้อมเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย หนึ่งในนั้นมี “โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย” ที่ปรับตัวสำเร็จจนกลายเป็นโรงเรียนอาเซียนต้นแบบของไทย

สุปราณี ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เล่าว่า แผนงานด้านอาเซียนของที่นี่เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2553 โดยได้ร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำให้มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ให้สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

จุดเริ่มต้นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเพิ่มวิชาอาเซียนศึกษาไปในหลักสูตร มีคาบเรียน 16 ชั่วโมงต่อเทอม หรือ 0.5 หน่วยกิต เริ่มนำร่องสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) โดยเนื้อหาได้ประยุกต์มาจากหลักสูตรแกนกลางอาเซียน หรือ ASEAN Curriculum Source Book แต่จัดทำรูปเล่มและเนื้อหาให้มีความน่าสนใจ โดยใช้ภาพการ์ตูนที่นักเรียนช่วยกันออกแบบและวาดมาประกอบ ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้เด็กเกิดความภูมิใจด้วย

ทั้งนี้ ถือว่าสตรีศรีสุริโยทัยเป็นโรงเรียนแห่งแรกๆ ที่จัดทำแบบเรียนวิชาอาเซียนศึกษาขึ้นมา มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศสมาชิก เริ่มต้นจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนก่อนจะเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นไป เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

“วิชาอาเซียนศึกษาของเราจะให้ครูประจำชั้นเป็นผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นครูคณิตศาสตร์หรือครูพละก็สอนได้ เพราะมีแนวคิดว่า ต้องนำหลักสูตรและความรู้เกี่ยวกับอาเซียนศึกษามาบูรณาการ เช่น ครูพละก็สามารถนำความรู้ด้านกีฬา การละเล่นของอาเซียนมาสอน ทำให้เด็กซึมซับเข้าไปแบบเนียนๆ”

นอกจากนี้ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยยังมีศูนย์การเรียนรู้อาเซียน ที่นำจอสัมผัสมาใช้ เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้สู่อาเซียนนำร่อง 1 ใน 11 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถานศึกษาให้ความรู้ด้านภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและตากาล็อก

ในมุมมองของนักเรียน บอกว่า มีโอกาสมาใช้บริการศูนย์การเรียนรู้หลายครั้ง รู้สึกดีใจและภูมิใจที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้กับนักเรียนและคนทั่วไป รวมถึงยังมีอุปกรณ์การสอนที่ครบครัน เช่น หนังสือวิชาอาเซียนศึกษา สื่อการสอนภาษาต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ฝึกภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าหากเด็กไทยไม่สามารถพูดภาษาเพื่อนบ้านได้ ก็อาจทำให้เสียเปรียบคนอื่นที่พูดได้

ด้านผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าต่อว่า ที่นี่ส่งเสริมให้เด็กสามารถพูดภาษาที่ 3 ได้ โดยสอนภาษาจีนให้นักเรียน ม.2 ทุกคน และเปิดสอนภาษาตากาล็อกในระดับ ม.4 แต่วิธีสอนจะแตกต่างจากหลักเดิมๆ เพราะเน้นการสื่อสาร (ฟังพูด) มากกว่าหลักไวยากรณ์ ซึ่งทำให้เด็กกล้าพูดภาษาต่างประเทศมากขึ้น

โรงเรียนยังได้ร่วมมือกับบริษัท บางกอก ซอฟต์แวร์ พัฒนาแอพพลิเคชั่นสอนภาษาเบื้องต้น ซึ่งกำลังพัฒนาให้แปลได้ 3 ภาษา คือ ไทยอังกฤษ และภาษาอื่นในอาเซียน เนื้อหามีทั้งการสอนเขียนตัวอักษร การฟังสำเนียงออกเสียง และตัวอย่างบทสนทนาพื้นฐานในชีวิตประจำวัน คาดว่าจะสมบูรณ์และสามารถใช้ได้ในเทอมหน้า

ขณะเดียวกัน มีแผนลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน จัดซื้อโปรแกรมสอนภาษา “Speek” จากประเทศเยอรมนี ที่ปัจจุบันนิยมใช้ในระดับอุดมศึกษาเพื่อนำมาพัฒนาทักษะภาษาและความรู้ให้กับนักเรียน เพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุคประชาคมอาเซียนด้วย

สำหรับแผนอื่นในปีนี้นั้น จะเปิดสอนภาษาพม่าเพิ่มขึ้น เพื่อประเมินความสนใจและความต้องการของนักเรียน ก่อนจะขยายไปสู่ภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาเขมร ภาษาลาว และภาษาอินโดนีเซีย ในปีการศึกษา 2557 อีกทั้งจะทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสถานศึกษาในประเทศอาเซียนให้ครบทั้ง 9 ประเทศ จากปัจจุบันทำกับอินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ไปแล้ว เพื่อขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรครูและนักเรียนระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากมุมวิชาการจริงจังแล้ว โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยยังมีนโยบายจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาเซียนตลอดทั้งปี เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นชินและค่อยๆ ซึมซับ โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด ซึ่งคือกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจของความสำเร็จของโรงเรียนนั่นเอง