posttoday

เสนอศาลสั่งรัฐฟังความเห็นก่อนทำโครงการน้ำ

25 มิถุนายน 2556

ตุลาการผู้แถลงคดีสมาคมโลกร้อนฟ้องเพิกถอนแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล. เสนอความเห็นให้ศาลปกครองสั่งรัฐบาลรับฟังความเห็นประชาชนก่อนทำสัญญาดำเนินโครงการน้ำ

ตุลาการผู้แถลงคดีสมาคมโลกร้อนฟ้องเพิกถอนแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล. เสนอความเห็นให้ศาลปกครองสั่งรัฐบาลรับฟังความเห็นประชาชนก่อนทำสัญญาดำเนินโครงการน้ำ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. องค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองกลางได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาครั้งแรกในคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวกรวม 45 คนยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57, มาตรา 58, มาตรา 67, มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37, มาตรา 38, มาตรา 60, มาตรา 63, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้องค์คณะได้ให้ น.ส.วาสนา มะลิทอง ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ผูกพันต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ

น.ส.วาสนาแถลงว่า การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเป็นกรอบแนวคิดนโยบายที่ปกป้องอุทกภัยของประเทศอย่างเป็นระบบ เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2554 ซึ่งข้ออ้างว่าที่ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 นั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการใช้สิทธิของประชาชนตามมาตรา 57 ถูกขัดขวาง ปกปิด การจัดทำแผนดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่ผู้ฟ้องเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นประชานโดยการทำประชามตินั้น เห็นว่าแผนแม่บทดังกล่าว เป็นกรอบความคิดในการป้องกันอุทกภัยไม่ใช่เรื่องที่เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา 165 ที่รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประกอบกับไม่เห็นว่ามีประกาศหรือกฎหมายใดที่กำหนดให้การจะดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำต้องทำประชามติ

อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลนั้น รัฐกำหนดให้ผู้รับจ้างแต่ละโมดูลต้องเป็นผู้ศึกษาความเหมาะสม วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ออกแบบจัดหาที่ดิน รวมทั้งดำเนินการตามความเห็นของผูจ้าง เพื่อให้โครงการสำเร็จ โดยมีการกำหนดเบี้ยปรับหากดำเนินการโครงการสำเร็จ ตรงนี้จะเห็นได้ว่า รัฐตัดสินใจใช้สัญญาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความสำเร็จในแต่ละโมดูล

แต่เมื่อพิจารณามาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า โครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ จะกระทำได้ต้องมีการศึกษา ประเมินผลกระทบ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ และเมื่อการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำหลายพื้นที่ กระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ และประชาชนที่ต้องมีการอพยพอย่างรุนแรง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน

"ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าควรที่องค์คณะจะสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องร่วมกันจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตาม มาตรา 67 วรรค 2 เสียก่อนที่จะมีการทำสัญญากับผู้รับจ้างที่เข้ารับงานในแต่ละโมดูลก่อนดำเนินโครงการ"น.ส.วาสนากล่าว

อย่างไรก็ตาม องค์คณะได้ชี้แจงต่อคู่กรณีว่า คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยขององค์คณะ โดยจากนี้องค์คณะจะประชุมพิจารณาคดีนี้และนัดคู่กรณีฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มิ.ย.นี้เวลา 13.30 น. ณ.ห้องพิจารณาคดี 8 สำนักงานศาลปกครอง

ด้านนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เหมือนกับกรณีของมาบตาพุด เพราะรัฐจะต้องกลับไปทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องผ่านคณะกรรมการชำนาญการพิจารณาและคณะรัฐมนตรีอีก