posttoday

คนหาย... ช่วยกันหา

17 มิถุนายน 2556

ข่าวคนดังหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนหลายวันถัดมาจะพบเป็นศพฝังดินบนภูเขาห่างไกล

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าวคนดังหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนหลายวันถัดมาจะพบเป็นศพฝังดินบนภูเขาห่างไกล กลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อทุกสำนักพากันประโคมข่าวใหญ่โต เจ้าหน้าที่ตำรวจพลิกแผ่นดินตามหาอย่างเต็มกำลัง ประชาชนต่างเงี่ยหูรอฟังด้วยใจจดจ่อลุ้นระทึก

แตกต่างลิบลับกับกรณีลูกตาสีตาสา คนธรรมดาที่หายตัวออกจากบ้าน พลัดพรากจากครอบครัวอันเป็นที่รักคนแล้วคนเล่า เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่มีใครรู้ชะตากรรม สื่อไม่สนใจ ตำรวจไม่เร่งรัดคดี ประชาชนไม่สนใจเหลียวแล ไร้วี่แวว ไร้เบาะแส

โอกาสคืนกลับบ้านช่างมืดมน ราวกับเป็นหนังคนละม้วน ทั้งที่อยู่ในสังคมเดียวกันแท้ๆ

“เป็นธรรมดาครับ สังคมไทยมักเต้นไปตามกระแสข่าว เรื่องไหนกระแสแรง เรื่องของคนดัง ย่อมได้รับความสนใจอยู่แล้ว ทั้งรัฐทั้งหน่วยงานต่างๆ ทั้งนักข่าวจะแห่เข้าไปรุมเลย”

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข อดีตหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านการตามหาคนหายมานานกว่าสิบปี บอก

ข้อมูลอันน่าตกใจเผยว่าเมืองไทยทุกวันนี้มีคนนับพันคน หายออกจากบ้านด้วยสารพัดเหตุผล ทั้งโดนลักพาตัว ถูกล่อลวง หรือสมัครใจหนีไปเอง และจากสถิติของศูนย์ข้อมูลคนหายพบว่า กว่า 70% คือ เด็กและเยาวชน

“ที่ผ่านมา มีการแจ้งเด็กหายปีละราวๆ 10 คน ไม่ว่าหายออกจากบ้านเอง ติดเกม หรือโดนทำร้ายทุบตี โดนคุกคามทางเพศ โดนลักพาตัว ถูกล่อลวง ส่วนใหญ่ถูกกระทำจากผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต บางคนรักเด็กอยากเอาไปเลี้ยงเป็นลูก เป็นเพื่อนเล่น บางคนลักไปเพื่อทำอนาจารทางเพศก็มี

ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่อเมริกามีคนรวยลักเด็กแล้วนำไปกักขังในห้องใต้ดินจนเป็นข่าวไปทั่วโลก แต่บ้านเราจะเป็นคนที่อยู่ตามที่สาธารณะ ใช้ชีวิตเร่ร่อน พวกนี้จะพาเด็กตระเวนไปตามที่ต่างๆ วันดีคืนดีไม่มีเงิน ก็เอาเด็กไปนั่งขอทาน ปัญหาการค้ามนุษย์ก็เกิดขึ้นตอนนั้น”

ลักษณะคนร้ายจะไม่ใช้วิธีฉุดกระชากลากถู ไม่ใช่ใช้กำลัง คนทั่วไปจะมองเห็นเหมือนเป็นพ่อลูก เป็นผู้ปกครอง พวกนี้มักล่อเด็กด้วยเงิน ขนม ของเล่น

“หากเราไม่ตามเด็กกลับมาสู่ที่ปลอดภัย พากลับบ้าน คืนสู่การดูแลของครอบครัว เขาก็ผจญชีวิตตามลำพัง ไม่เรียนหนังสือ ไม่มีทักษะพื้นฐานชีวิตใดๆ ไม่มีงานทำ อาจไปฉกชิงจี้ปล้น กลายเป็นอาชญากรเต็มตัว วงจรชีวิตเห็นชัดเลยว่าไม่ปลอดภัย นอกจากตัวเองไม่ปลอดภัยแล้ว ยังทำให้สังคมรอบข้างไม่ปลอดภัยด้วย”

ขณะที่อีกกว่า 30% ของคนหาย คือ ผู้ใหญ่ มักหายไปเพราะความสมัครใจของตัวเอง หนีหนี้สิน หนี้ปัญหาชีวิต อยากปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียว คนเหล่านี้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ ใครไม่สามารถไปละเมิดสิทธิส่วนตัวได้ นอกจากตัวเขาเอง แต่สำหรับอีกกรณีคือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางจิต หลงๆ ลืมๆ ความจำเสื่อม ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ เคสนี้ถือเป็นอันดับสองรองลงมาจากเด็กหาย

“ถ้าเกิดขึ้นในต่างจังหวัดไม่เท่าไหร่ สังคมแคบ ทุกคนจะรู้ว่าลุงคนนี้แกป่วยอย่างไร รู้ว่าบ้านอยู่ไหน เวลาเดินหายไป ก็มีการเอาตัวมาส่งที่บ้าน แต่ถ้าเป็นสังคมเมือง คนไม่รู้จักกันตัวใครตัวมัน ก็จะไม่มีใครสนใจ

วันดีคืนดีลุงแกตากแดดตากฝนเนื้อตัวมอมแมม ก็แปรสภาพเป็นคนจรจัด เร่ร่อน พูดคนเดียว เหม่อลอย ตาขวาง ถูกมองว่าบ้า คนยิ่งกลัวยิ่งไม่กล้าเข้าไปสนทนา”

คำพูดน่าเจ็บปวดที่ว่า “ในประเทศนี้เด็กหายเหมือนกระเป๋าสตางค์หาย” สะท้อนมาจากความจริงที่เกิดขึ้นหลังไปแจ้งความบนโรงพักต่อตำรวจว่าเด็กหาย กลับได้ใบแจ้งความมาใบเดียว ไม่มีการติดตามค้นหาใดๆ

“ทัศนคติของตำรวจ มองคดีเด็กหายเป็นเรื่องเสมอตัว ตามเจอก็ส่งคืนพ่อแม่ ไม่เจอก็โดนด่า ไม่เหมือนจับยาเสพติด ทุ่มทุนทุ่มกำลังเต็มที่ จับได้เอามาแถลงข่าว ได้ผลงาน ได้เลื่อนขั้น

หากกระบวนการติดตามคนหายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการซักประวัติ ขอรูปถ่าย หลักฐานต่างๆ ลงพื้นที่ไปสืบสวน ขอดูกล้องวงจรปิด จนครอบครัวพอใจ เขาก็จะไม่ไปแจ้งที่อื่นอีก พวกที่มาแจ้งเรา เป็นพวกแจ้งตำรวจแล้วไม่คืบหน้า เขาก็รู้สึกว่าตำรวจไม่ช่วยเขาเลย เมื่อใดก็ตามที่โทรหาเรา แสดงความว่าตำรวจไม่สามารถให้ความพึ่งพาเขาได้”

เอกลักษณ์บอกว่าตำรวจควรมีศูนย์ติดตามคนหาย ศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับคนหายได้แล้ว

“ทีศูนย์ติดตามและป้องกันการโจรกรรมรถยังมีได้ มีจัดอันดับยี่ห้อรถที่หายสูงสุด มีกี่กลุ่มกี่แก๊งตอบได้หมด แต่ไปแจ้งความคนหาย คุณไม่มีข้อมูลอะไรเลย บางครั้งไม่รับแจ้งความด้วย

เรื่องหายครบ 24 ชั่วโมงถึงแจ้งความได้ ควรเปลี่ยนได้แล้ว หลัก 24 ชั่วโมง ควรใช้สำหรับผู้ใหญ่ เขาไม่กลับบ้านอาจแวะทำธุระ หาเพื่อน ต่างจากเด็กเล็กๆ แค่หนึ่งชั่วโมงก็ถือว่าหายแล้ว ต้องรีบตามเร่งด่วน

ถ้าเรามีศูนย์กลางรับแจ้งเรื่องคนหาย ทุกหน่วยงานทุกองค์กรจะเชื่อมโยงกันหมด เด็กหาย โทรแจ้ง 191 ตำรวจส่งเรื่องไปยังฐานข้อมูลกลาง ท้องที่ไหนเจอเด็กหน้าตาแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ อายุเท่านี้นั่งขอทาน เร่ขายดอกไม้ ก็ไปดูว่าใช่ไหม รับตัวกลับมา

กรณีน้องดังที่ถูกคนร้ายอ้างว่าเป็นโค้ชฟุตบอลลักพาตัวไป ผมเอะใจว่าเคยมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน อ้างว่าเป็นโค้ชฟุตบอลเหมือนกัน เลยเอารูปถ่ายเอาข้อมูลไปถามพ่อแม่เด็ก ปรากฏว่าเป็นคนเดียวกัน ถ้าเรามีศูนย์ข้อมูลกลาง เราจะบอกได้เลยว่ามีกี่ขบวนการ ใครเคยมีประวัติลักเด็กซ้ำซาก เด็กหายพื้นที่นี้เดาได้เลยว่าต้องเป็นกลุ่มไหน”

นอกจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งทางตรงทางอ้อม อาทิ สายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิปวีณา หงสกุล สถานีวิทยุ สวพ. 91 จส.100 รายการศูนย์คนหายไทยพีบีเอส คอลัมน์ธารน้ำใจในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเว็บไซต์กระปุก iCare

ทว่าในปัจจุบันเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการตามหาเบาะแสคนหาย คือ โซเชียลมีเดียและคนดัง

“เมื่อก่อนตั้งแต่ไฮไฟว์ จนถึงเฟซบุ๊ก เราได้ข้อมูลปั๊บอัพปุ๊บเลย แต่พอหลังๆ มันมีปัญหาตรงเมื่อเด็กกลับบ้านแล้ว รูปยังอยู่ข้อมูลยังอยู่ กลายมาเป็นดาบทำร้ายจิตใจเด็ก ต้องเปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่ ย้ายโรงเรียนก็มี

เดี๋ยวนี้ แฟนเพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มีผู้ติดตาม 42,678 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครอง คนที่เห็นอกเห็นใจเด็ก กลัวบุตรหลานหาย ชอบมาอ่านมาดูข้อมูล คนชอบอ่านเรื่องการเตือนภัย เรื่องดรามา ผมก็ต้องถอดบทเรียนมาเขียนเตือนภัยให้คนอ่านเกือบทุกวัน เขาจะได้ตื่นตัว บอกต่อ”

ธารน้ำใจที่หลั่งไหลมา ต่างคนต่างล้วนเห็นอกเห็นใจ สงสารหัวอกพ่อแม่ อยากมีส่วนช่วยในการตามเด็กกลับบ้าน แม้เพียงน้อยนิด

บางคนเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ก็พิมพ์โปสเตอร์ประกาศฟรี 5,000 แผ่น บางคนขับรถส่งของก็ใจดีแปะป้ายหราไว้หลังรถให้เห็นเด่นชัด เช่นเดียวกับกลุ่มแท็กซี่จิตอาสา ทีมกระปุกบุญ แขวนป้ายไว้เบาะหลัง หวังผู้โดยสารเป็นหูเป็นตา ทีมฟุตบอลลูกอีสานการบินไทยที่อาสาถือรูปน้องหญิง เด็กสาวที่หายไปนานเกือบ 3 ปี ลงสนามก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่ออกแรงคนละไม้ละมือ

“วิธีใหม่ๆ อีกอย่างคือบุกเข้าหาคน คนที่มีต้นทุนทางสังคม อธิบายให้เขาฟัง ขอให้เขาช่วยถือโปสเตอร์ตามหาคนหาย ขอพื้นที่ลงประกาศ อย่างรายการข่าวสามมิติ เรื่องจริงผ่านจอ รายการคุณสรยุทธ คุณกนก ดาราดังๆ อย่างคุณเจ เจตริน ตุ๊ก ชนกวนันท์ หรือคุณตุ๊กกี้ก็เอาไปลงอินสตาแกรมให้ วงแคนดี้มาเฟีย วงนั่งเล่น ทุกคนเต็มใจอยากจะช่วยทั้งนั้น ตอนนี้เราพยายามนำคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะจะไปถึงคนในวงกว้างได้ง่าย”

ทิ้งท้ายเรื่องการตามหาคนหาย ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ เอก กระจกเงา แนะนำว่าอย่าไปใส่สินบนเงินรางวัลในประกาศตามหาเด็กหาย

“เพราะคุณจะต้องรับมือกับมิจฉาชีพเยอะมาก แบบว่าโทรมาบอกตอนนี้เจอเด็กแล้ว โอนเงินมา ไหนจะหมอดงหมอดู เจ้าเข้าทรงอะไรต่อมิอะไร การลงมือตามหาเด็กหาย สำคัญกว่าคำทำนายครับ”

ลึกๆ ในใจเขาเชื่อว่าปัญหาคนหาย ยังมีคนอีกเยอะแยะมากมายในสังคมที่ยินดีช่วยอย่างเต็มใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ประสบการณ์อันเข้มข้นกว่าสิบปีเต็มในเรื่องคนหายตั้งแต่นั่งโต๊ะรับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ ขึ้นโรงพักประสานงานตำรวจ ปลอบโยนให้กำลังใจพ่อแม่ที่กำลังจะสิ้นหวัง ถึงขั้นปลอมตัวลงพื้นที่สืบสวนตามหาเบาะแสของเด็กๆ ที่หายตัวทั่วประเทศ เอกลักษณ์จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความจริงเรื่องปัญหาคนหายให้ฟัง


จากที่ตามคนหายมา 70 กว่าคน ไม่เคยพบว่ามีรายไหนเลยที่ถูกรถตู้ลักพาตัวไป ขอยืนยันอีกครั้งว่าประเทศไทยไม่มีแก๊งรถตู้จับเด็ก ตามที่มีข่าวลือมาทุกยุคทุกสมัย

การทำงานบางครั้งเสี่ยง ครั้งหนึ่งเจอยามคนหนึ่งหน้าตาเหมือนคนร้ายมาก เดินอยู่ในอพาร์ตเมนต์ตามเบาะแส แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เกือบโดนเจ้าของอพาร์ตเมนต์ฟ้องร้อง อีกที่หนึ่งเข้าไปตามหาเด็กในแคมป์คนงานช่วงสงกรานต์ เขากำลังเมากันอยู่ เราเข้าไปถาม เขาไม่พอใจ เกือบโดนรุมกระทืบ บางทีเราก็อยากให้มีตำรวจลงพื้นที่ด้วย

ทุกวันนี้มีคนแจ้งตามหาคนหายเข้ามาเฉลี่ยขั้นต่ำเดือนละ 30 คน แน่นอนมีโทรมาทุกวัน อย่างน้อยวันละคน

ในต่างประเทศเขามีศูนย์ติดตามคนหายโดยรัฐ มีเว็บไซต์ มีระบบส่งข้อมูลผ่านเอสเอ็มเอส อีเมล มีกล่องนมที่มีรูปเด็ก เป็นวัฒนธรรมของเขาในการตามหาคนหาย แต่บ้านเรา ถ้าไม่เป็นข่าวนี่จบ คนไม่สนใจ

แต่ละเคสมีวิธีติดตามแตกต่างกัน อย่างลักพาตัว ต้องไปตามดูกล้องวงจรปิดตามร้านสะดวกซื้อ เพราะเด็กมักถูกหลอกว่าจะพาไปซื้อขนม เด็กติดเกม ไปดูที่ร้านเกมร้านอินเทอร์เน็ต แต่พวกนี้เขาจะไม่อยู่ร้านเดิม จะย้ายร้านไปเรื่อย เพราะกลัวตามเจอ

โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่เคยตามหาเด็กเจอ แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนรู้ว่ายังมีปัญหานี้อยู่ ไอ้ที่แชร์รูปกันทุกวันที่ไม่มีเจอหรอก