posttoday

องคมนตรีร่วมงาน12ปีสสส.

29 พฤษภาคม 2556

องคมนตรี ชี้ 10 ปีหน้า คนไทยสุขภาพดี ต้องยึด 4 มิติ กาย จิต สังคม จริยธรรมปัญญา

องคมนตรี ชี้ 10 ปีหน้า คนไทยสุขภาพดี ต้องยึด 4 มิติ กาย จิต สังคม จริยธรรมปัญญา

ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 300 องค์กร ร่วมจัดเวที “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” เนื่องในโอกาสที่การดำเนินงานของ สสส. ครบรอบปีที่ 12 มีผู้ร่วมงานกว่า 5,000 คน

นพ.เกษม วัฒนชัย องค์มนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพในทศวรรษต่อไป” ว่า การทำงานเรื่องสุขภาพในทศวรรษต่อไป ต้องมีหลักคิดมิติทางสุขภาพ 4 ด้าน คือ กาย จิต สังคม จริยธรรมปัญญา ต้องทำให้ครบทุกด้านไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ได้

ทั้งนี้ สสส.และคนทำงานด้านสุขภาพ ควรยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ 1.ทำงานอย่างผู้รู้จริง 2.ไม่ติดตำราแต่คำนึงถึงภูมิสังคม 3.ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเอง 4.ทำจากเล็กไปใหญ่ แต่ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องทำให้ง่าย 5.ประหยัดเรียบง่ายและประโยชน์สูงสุด และ 6.จิตใจบริสุทธิ์ ถ้ายึดหลักทำงานนี้ได้จะมีความสุข

นพ.เกษม กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ในอีก 10 ปีข้างหน้าขอให้มองด้านเศรษฐกิจ การเมือง นโยบายสาธารณะ สื่อมวลชน และการศึกษา การเดินไปข้างหน้าโดยมีเฉพาะระบบสุขภาพ แบกใส่ถุงวิ่งเป็นไม่ได้ ต้องเหลือบดูประเทศอื่น ที่เคยอยู่ในระนาบเดียวกันว่าไปถึงไหน และอีก 5-10 ปี จะเดินไปทางไหน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สสส.ทำใน 12 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จัดระบบสุขภาพให้เหมาะสมกับบริบทแบบต่างๆ โดยออกแบบให้ประหยัดเรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด การทำงานด้านสุขภาพเป็นงานปิดทองหลังพระ ต้องคิดด้วยจิตใจบริสุทธิ์ และมีความสุขจากการได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.และภาคีสร้างเสริมสุขภาวะ ขอประกาศเจตจำนงร่วมกันในการขับเคลื่อนและรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาวะให้มีความต่อเนื่อง และผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบสูง โดยมีเป้าหมาย “ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่”

ทั้งนี้ประกอบด้วย  1.ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะที่สามารถขยายผล จนส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของทุกคน 2.มีข้อตกลงร่วมที่จะยกระดับนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นนโยบายสาธารณะในทุกระดับ 3.ขยายภาคีใหม่ให้ในทุกพื้นที่ และมีแนวทางการทำงานที่มีความหลากหลาย และ4.เปิดพื้นที่ทางความคิดและเปิดพื้นที่ทางกายภาพในการทำงานร่วมกันมากขึ้น