posttoday

สธ.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี27พ.ค.

26 พฤษภาคม 2556

สาธารณสุขบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีพร้อมกันทั่วประเทศ 27พ.ค.นี้ รับบริการได้ที่รพ.ใกล้บ้าน

สาธารณสุขบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีพร้อมกันทั่วประเทศ 27พ.ค.นี้ รับบริการได้ที่รพ.ใกล้บ้าน
         
วันที่ 26 พ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล มักพบการระบาดในฤดูฝนและฤดูหนาว ในปี 2556 ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ ตั้งเป้าฉีดทั้งหมด 3.5 ล้านคน จะเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. - 30 ก.ย. นี้ โดยจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อป่วยแล้วจะเจ็บป่วยรุนแรง 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่กำจัดสัตว์ปีก และกลุ่มที่ 2 คือประชาชนซึ่งมี 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 2.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป 3.กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี และ 4.ผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยสามารถเข้ารับบริการได้ฟรีที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
         
“วัคซีนที่ใช้ในปีนี้เป็นชนิดรวม ป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งพบมากที่สุดในประเทศไทย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) และชนิดบี (B) หลังฉีดจะมีผลป้องกันโรคเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะลดการป่วยหรือลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มจัดบริการฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา และได้ผลดี” รมช.สาธารณสุข กล่าว
         
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปจะมีข้อห้ามใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน 2.ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือสารประกอบอื่นๆ หรือแพ้ไข่ไก่ แพ้ไก่อย่างรุนแรง 3.ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีไข้ 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระยะกำเริบ 5.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์น้อยกว่า 4 เดือน หรือมีภาวะครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษาเป็นประจำ ก่อนการฉีดวัคซีน ทั้งนี้แต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 900,000 ราย แต่หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันในกลุ่มเสี่ยง พบว่าแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตลดลง จากป่วย 115,183 ราย เสียชีวิต 126 ราย ในปี 2553 เหลือป่วย 61,989 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในปี 2555 สำหรับในปี 2556 สำนักระบาดวิทยารายงานในรอบเกือบ 5 เดือน มีผู้ป่วย 18,674 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิต.