posttoday

เปิดร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่3

21 พฤษภาคม 2556

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใน 10 ด้าน

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใน 10 ด้าน

ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งดำเนินการโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่ผ่านการรับฟังความเห็นประชาชน มี 10 ด้าน 14 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.ด้านสาธารณสุข ซึ่งยังมีปัญหาการเข้าถึงและคุณภาพของระบบสาธารณสุข รัฐบาลควรร่วมมือเอกชนในการใช้ทรัพยากรและครุภัณฑ์ อีกทั้งพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล และเพิ่มทางเลือกในการร่วมจ่ายสมทบของผู้ประกันในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2.ด้านการศึกษา ต้องปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดการศึกษาจากเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ อีกทั้งต้องสนับสนุนโครงการสร้างรายได้แก่เด็กยากจน และที่สำคัญคือต้องให้โรงเรียนเฉพาะเช่น โรงเรียนทางศาสนา โรงเรียนคนพิการ สามารถเชื่อมต่อเข้าถึงระบบการศึกษาใหญ่ได้ 3.ด้านวัฒนธรรม ควรผลักดันและส่งเสริมความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เน้นแต่วัฒนธรรมกลาง 4.ด้านเศรษฐกิจ ควรเร่งสร้างความเท่าเทียมกัน บรรเทาผลกระทบเชิงลบจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนบางกลุ่ม

5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ควรจะเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไขและชดเชยจากปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้รัฐสนับสนุนผู้ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ 6.ด้านการสื่อสารและเทคโนโลยี ควรจัดจัดระบบข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างรวมศูนย์ เพื่อสะดวกให้การติดตามค้นหาข้อมูล

7.ด้านการขนส่ง เน้นให้มีการเข้าถึงด้านการขนส่งของคนทุกกลุ่ม ทั้งคนชรา และผู้พิการ 8.ด้านการเมืองการปกครอง ส่งเสริมการพัฒนาการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับให้มีการเลือกตั้งแบบมีวาระ เพื่อป้องกันการสร้างฐานอำนาจ และส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย อีกทั้งส่งเสริมให้มีการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารหน่วยงานราชการทุกภาคส่วน

9.ด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทุกกลุ่ม เนื่องจากประชาชนต่างจังหวัดอาจจะเข้าถึงได้น้อยการประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร 10.ด้านความมั่นคงทางสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว และให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น คือ กลุ่มผู้ที่มีความด้อยหรืออ่อนแอ ทำให้มีโอกาสในการถูกล่วงละเมิดได้ง่ายคือ 1.กลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง 2.กลุ่มผู้พ้นโทษ 3.กลุ่มเหยื่อ/ผู้เสียหาย 4.กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี 5.กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 6.กลุ่มคนจน 7.กลุ่มเกษตรกร 8.กลุ่มผู้สูงอายุ 9.กลุ่มเด็กและเยาวชน 10.กลุ่มสตรี 11.กลุ่มผู้พิการ 12.กลุ่มผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง 13. กลุ่มผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ และ 14.กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ภาคประชานที่เข้าร่วมได้เสนอความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ ฉบับที่ 3 ในแต่ละด้านให้ความเห็นว่า  ยังมีความไม่เท่าเทียมกันของการรักษาพยาบาลระหว่างผู้ที่มีฐานะและไม่มีฐานะ การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ทางด้านสาธารณสุข เร่งพัฒนาการศึกษาเพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาปัจจัยด้านอื่นๆ ซึ่งต้องเน้นที่การพัฒนาคน และรวมไปถึงจำนวนของบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่สมดุลกันในแต่ละพื้นที่

สำหรับด้านของเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมให้มีการสร้างอาชีพ ให้คนมีคุณภาพที่ดีขึ้น และให้ชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีบทบาทในเชิงนโยบายด้วย อีกทั้งยังมีเรื่องการบุกรุกพื้นที่สาธารณะในการสร้างบ้านเรือน ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปรับผิดชอบดูแล ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม

ขณะที่ด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลต้องควบคุมการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่าย แต่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กในการเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ด้านการขนส่งนั้น ควรจัดรถโดยสารขนส่งสาธารณะทุกระดับ ทั้งในระดับใหญ่ละระดับชุมชน รวมไปถึงสิทธิในการเดินทางของผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันมีไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางของผู้พิการ

ด้านการเมืองนั้น ปัจจุบันการเมืองเข้าไปมีบทบาทและสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน มีการถูกละเมิดจากสื่อ เพราะอาจมีผู้ที่รู้ไม่เท่าทันสื่อ หรือการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วยทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังได้เปิดช่องทางให้ผู้ที่สนใจร่วมกันวิพากษ์ เสนอความคิดเห็นหรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อนำมาปรับแก้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ที่เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ www.rlpd.moj.go.th  โดยเลือกหัวข้อ “วิพากษ์ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (online)”