posttoday

บอร์ดอภ.เลิกจ้าง นพ.วิทิต

17 พฤษภาคม 2556

มติบอร์ดอภ.เลิกจ้าง นพ.วิทิต ยันผิดสัญญาจ้าง-วินัยร้ายแรง

มติบอร์ดอภ.เลิกจ้าง นพ.วิทิต ยันผิดสัญญาจ้าง-วินัยร้ายแรง

วันที่ 17 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ใช้เวลา 3 ชม. เพื่อพิจารณาผลการสอบสวนนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ. เรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตตามอล โรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ก่อนมีมติเป็นเอกฉันวินิจฉัยว่า นพ.วิทิต ได้บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง คณะกรรมการอภ. จึงมีมติให้ยุติสัญญาจ้าง นพ.วิทิต โดยจะนำผลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ 3 ข้อหลัก ที่คณะกรรมการอภ. สรุปว่า นพ.วิทิต ผิดสัญญาจ้างได้แก่ 1.จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างเสียหาย 2.ประมาทเลินเล่อ ทำให้อภ.เกิดความเสียหายร้ายแรง และ 3.ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือวินัยของพนักงานอภ. หรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และผู้ว่าจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งนี้หนังสือเติอนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้รับจ้างได้กระทำความผิด เว้นแต่ กรณีร้ายแรงผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องวัตถุดิบยาพาราเซตตามอล กล่าวว่า การปฏิบัติงาน ของนพ.วิทิต ไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับ เรื่องการพัสดุ โดยการจัดซื้อพิจารณาว่าการเลือกใช้วิธีพิเศษไม่สอดคล้องระเบียบพัสดุ โดยการจัดซื้อ 100 ตันหลัง ไม่มีแผนการผลิต ไม่มีสถานที่เก็บ และยังมีของเก่าอีกกว่า 40 ตัน ขณะเดียวกันได้ชะลอการส่งมอบ ทั้งที่ไม่ว่าจะสั่งมาอย่างไร โรงงานก็ไม่สามารถผลิตยาพาราเซตตามอลจำนวนมากได้ เนื่องจากโรงงานผลิตยาพาราเซตตามอลขนาดใหญ่ ยังสร้างไม่เสร็จ

ปัญหาดังกล่าว ทำให้ อภ. ต้องเสียค่าใช้จ่ายเก็บวัตถุดิบร้อยกว่าตัน ขณะเดียวกัน วัตถุดิบที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐาน ก็กระทบความน่าเชื่อถือของอภ.  ต่อไป สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารสัญญาและการกำกับดูแล ไม่ได้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ทำให้เกิดความล่าช้า ทำให้อภ.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ผลิตยาให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การประสานงานที่ล่าช้าของ นพ.วิทิต ทำให้ การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ มีความล่าช้าทั้ง 2 สัญญา สัญญาแรกกว่า 400 วัน และสัญญาที่สองกว่า 450 วัน ทำให้เกิดความล่าช้า นพ.วิทิต ในฐานะผู้อำนวยการอภ. จึงต้องรับผิดชอบ

ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการอภ. กล่าวว่า คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า นพ.วิทิตไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ จนก่อความเสียหายให้กับอภ. โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบให้เร็วที่สุดโดยหลังจากนี้ จะให้ ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการอภ. รักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการอภ. และจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการอภ.ต่อไป