posttoday

ตีกลับวาระเสนอร่วมจ่ายบัตรทอง

17 พฤษภาคม 2556

บอร์ดสปสช.ตีกลับวาระเสนอร่วมจ่ายบัตรทอง เลื่อนเสนอครั้งหน้าแทน ด้าน ประดิษฐยันไม่เกี่ยวเสนอวาระให้ผู้มีสิทธิ์ 30 บาทจ่ายเงิน ยันเลขาฯทำตามขั้นตอนปกติ

บอร์ดสปสช.ตีกลับวาระเสนอร่วมจ่ายบัตรทอง เลื่อนเสนอครั้งหน้าแทน ด้าน ประดิษฐยันไม่เกี่ยวเสนอวาระให้ผู้มีสิทธิ์ 30 บาทจ่ายเงิน ยันเลขาฯทำตามขั้นตอนปกติ

วันที่ 17 พ.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำเครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคไต โรคมะเร็ง กว่า 20 คน ยื่นหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้ยุติการพิจารณาแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย หลัง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เตรียมนำวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด

อย่างไรก็ตาม นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นวาระที่สปสช. เป็นคนนำเสนอเข้าสู่การประชุม ทั้งนี้ ยังไม่มีเรื่องการร่วมจ่ายในความคิด แต่อนาคตคงต้องมีมาตรการพัฒนาให้ระบบหลักประกันสุขภาพมั่นคงต่อไป วันนี้จึงขอถอนวาระดังกล่าวอกไปก่อน

ทั้งนี้ ในหนังสือคัดค้านระบุว่า จากการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ สำนักงานวิจัยเพื่อหลักประกันสุขภาพไทย พบว่าผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่มีการใช้บริการเกินจำเป็นในระบบประกันสุขภาพ แต่ยืนยันว่าระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ บริการและจ่ายยาเกินจำเป็นมากกว่า ระบบประกันสุขภาพพถ้วนหน้าและระบบประกันสังคม

ขณะเดียวกันการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็พบเช่นเดียวกันว่า ผู้ป่วยไม่ได้รับบริการมากเกินกว่ากำหนด และเข้ารับบริการเมื่อป่วยจริงๆ เท่านั้น ทั้งนี้ การร่วมจ่ายที่จุดบริการ จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือต้องสร้างระบบเพื่อวัดความยากจน จึงขอให้ยุติการนำวาระเข้าที่ประชุมวันนี้ รวมถึงระงับกการพิจารณาออกไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาข้อมูลรอบด้าน และขอให้รับฟังความเห็นจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

โดยในที่ประชุม นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพ ได้คัดค้านการเสนอวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา โดยระบุว่า สปสช.ได้นำวาระนี้มาแทรกเพื่อเร่งพิจารณา โดยไม่ได้มีการแจ้งให้กรรมการทราบก่อน นพ.ประดิษฐจึง ขอให้ถอนวาระนี้ออกไปก่อน และให้นำเสนอในการประชุมกรรมการสปสช.ครั้งต่อไปแทน  โดยเป็นวาระเพื่อทราบว่า สภาพัฒน์ฯมีความเห็นและข้อเสนอแนะเท่านั้น ไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณาเรื่องร่วมจ่าย