posttoday

ผบ.ตร.สั่งป้องกันนร.ตีนกันช่วงเปิดเทอม

14 พฤษภาคม 2556

โฆษกสตช.เผยพล.ต.อ.อดุลย์สั่งตั้งรองผบก.ลงไปควบคุมพื้นที่หาทางป้องกันนักเรียนตีกันช่วงเปิดเทอม

โฆษกสตช.เผยพล.ต.อ.อดุลย์สั่งตั้งรองผบก.ลงไปควบคุมพื้นที่หาทางป้องกันนักเรียนตีกันช่วงเปิดเทอม

พ.ต.อ.หญิง วิชญ์ชยากร ณิชาบวร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำในเรื่องการป้องกันทะเลาะวิวาทและการประทุษร้ายทรัพย์ของเด็ก และเยาวชน โดยให้ในระดับ บก.ให้ ผบก.มอบหมายให้รอง ผบก. 1 ท่านลงไปควบคุมดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนในระดับโรงพักทุกแห่งต้องมีระบบฐานข้อมูล มีกลุ่มเด็กเสี่ยง กลุ่มพื้นที่เสี่ยง และสถานศึกษาที่เสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาท และให้วิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรมเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น และให้หัวหน้าโรงพักจัดเจ้าหน้าที่ระดับรอง ผกก.หรือ สว.เป็นนายตำรวจทำหน้าที่ประสานงานกับทางโรงเรียนและเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันดูแลเด็กและเยาวชน
         
รองโฆษก สตช.กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต ให้ช่วยกันสังเกตพฤติกรรมเด็กที่เข้าไปใช้บริการ ถ้าพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที ให้สายตรวจเพิ่มความเข้มและความถี่ในการออกตรวจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กไปโรงเรียนและกลับบ้านหลังเลิกเรียน และมีคำสั่งให้จเรตำรวจแห่งชาติตรวจสอบเอกสารทุกครั้งที่ไปตรวจราชการว่าโรงพักต่างๆ มีการทำข้อมูล หรือผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมไว้ด้วยหรือไม่ ในระดับ ตร.ผู้บังคับบัญชา สายป้องกันและปราบปราม ต้องลงไปควบคุมดูอย่างจริงจัง และหากพบว่ามีการปล่อยปละละเลยในพื้นที่ใด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาตามสมควรแก่กรณี
         
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เกิดเหตุนักเรียนตีกันบ่อยครั้ง แบ่งได้ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนพื้นที่ทิศเหนือคันนายาว ดอนเมือง และต่อเนื่องกับพื้นที่ อ.ลำลูกกา โซนทิศใต้พื้นที่มีนบุรี และบางนา เชื่อมต่อกับพื้นที่ปากน้ำ สำโรง บางพลี และโซนพื้นที่บางแค ภาษีเจริญ พื้นที่เป้าหมายที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง คือ จุดชุมทางรถเมล์ หน้าตลาด หน้าห้างสรรพสินค้า รถประจำทางที่มักจะเกิดเหตุบ่อยครั้งมักจะเป็นรถเมล์ร้อนโดยส่วนใหญ่ คือ สาย 2 สาย 8 สาย 33 สาย 39 และสาย 90 และมักจะเกิดในช่วงเวลา 15.00 ถึง 19.00 น. ของช่วงเวลาเปิดเทอม และกราฟการก่อเหตุจะสูงขึ้นเมื่อผ่านการเปิดเทอมไปแล้วประมาณ 1 เดือน ช่วงประมาณปลายเดือน มิ.ย.ถึง ก.ค. และจะเกิดเหตุใหม่ปลายเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.จึงได้เน้นย้ำว่า เมื่อเรารู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว ก่อนเปิดเทอมนอกจากการดูแลเรื่องปัญหาการจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลในเรื่องเหล่านี้ด้วย กรณีความผิดของเรื่องนักเรียนตีกันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ดำเนินการเฉพาะผู้ที่ใช้อาวุธ ถ้ามีเหตุชุลมุนต่อสู้ให้ถือว่าร่วมกันกระทำความผิดทั้งสิ้น.