posttoday

ก๊าซเรือนกระจกพุ่งทะลุปรอท มนุษย์นับถอยหลังสู่ 'หายนะ'

12 พฤษภาคม 2556

มะกันชี้ก๊าซเรือนกระจกพุ่งสุดรอบ 3 ล้านปี ดันอุณหภูมิทะลุ 2 องศา กูรูเตือนเร่งแก้ หวั่นอ่วมภัยธรรมชาติ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

มะกันชี้ก๊าซเรือนกระจกพุ่งสุดรอบ 3 ล้านปี ดันอุณหภูมิทะลุ 2 องศา กูรูเตือนเร่งแก้ หวั่นอ่วมภัยธรรมชาติ

องค์กรการบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ เปิดเผยว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เพิ่มมากขึ้นแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 35 ล้านปี โดยอยู่ที่ 400.03 ส่วน (พีพีเอ็ม) ต่อมวลอากาศ 1 ล้านส่วนจากการเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 9 พ.ค.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ได้ปลุกกระแสเรียกร้องให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก เร่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมให้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เนื่องจากสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ความพยายามการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น ยังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

“มนุษย์เป็นตัวการส่งผลให้โลกต้องมีสภาพภูมิอากาศไม่ต่างอะไรกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจากปริมาณการใช้พลังงานของทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น” บ๊อบ วาร์ด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย สภาพอากาศวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน กล่าว

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลการศึกษา พบว่า หากระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 400440 พีพีเอ็ม จะส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2.8 องศาเซสเซียส จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อุณหภูมิโลกต่อจากนี้ อาจปรับตัวสูงขึ้นเกิน 2 องศา ซึ่งเกินกว่าระดับภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ 190 ประเทศทั่วโลกประกาศควบคุมไว้

บลูมเบิร์กรายงานอีกว่า แม้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐ จีน ไปจนถึง มัลดีฟส์ จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 52 กิกะตันจากเดิม 58 กิกะตันภายในปี 2563 ตามข้อตกลงร่วมกันภายใต้โครงการขององค์การสหประชาชาติ ทว่ายังคงเป็นระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงเกินไป เนื่องจากแค่เพียงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่า 44 กิกะตันต่อปี ก็จะส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสแล้ว

แนวโน้มอุณหภูมิโลกที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า โลกอาจต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น พายุซูเปอร์สตอร์มแซนดี ที่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ขณะที่เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ เผชิญกับภาวะน้ำท่วมนั้น เป็นผลพวงจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้นเพียง 0.8 องศาเซลเซียสเท่านั้น

โจแอนนา ฮายช์ นักฟิสิกส์บรรยากาศและหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ของวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน มองว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา โลกก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซสเซียส ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะทางธรรมชาติขั้นรุนแรง ตั้งแต่สัตว์ทุกชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ตลอดจนถึงสภาพอากาศแปรปรวนขั้นรุนแรงทั่วโลก

ขณะที่ ไบรอัน ฮอชสกิน ผู้อำนวยการสถาบันแกรนด์แฮม เชื่อว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะ 800 พีพีเอ็มต่อมวลอากาศ 1 ล้านส่วนภายในศตวรรษนี้อย่างแน่นอน

“หากวิเคราะห์จากพฤติกรรมมนุษย์ในปัจจุบัน ที่ยังคงเดินหน้าเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในวงการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการออกมาตรการที่ชัดเจนมาควบคุม หรือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซโดยเร็วที่สุด มนุษย์ก็จำเป็นต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากผลกระทบอันเลวร้ายของภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ฮอชสกิน ระบุ