posttoday

อัยการเลื่อนสั่งคดีลูกกระทิงแดงชนตำรวจดับ

08 พฤษภาคม 2556

อัยการเลื่อนสั่งคดี ลูกชายกระทิงแดง ซิ่งเฟอรารี่ ชนตำรวจทองหล่อดับ เป็น 19 มิ.ย. พร้อม ส่งหนังสือถึง ผบ.ตร.เรื่องความเห็นแย้งกับ พนง.สอบสวน ข้อหาขับรถเร็ว

อัยการเลื่อนสั่งคดี ลูกชายกระทิงแดง ซิ่งเฟอรารี่ ชนตำรวจทองหล่อดับ เป็น 19 มิ.ย. พร้อม ส่งหนังสือถึง ผบ.ตร.เรื่องความเห็นแย้งกับ พนง.สอบสวน ข้อหาขับรถเร็ว

เวลา 10.00 น. อัยการฝ่ายคดีอาญาใต้ 1 เลื่อนนัดการสั่งคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อายุ 28 ปี บุตรชายของนายเฉลิม อยู่วิทยา นักธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อกระทิงแดง ตกเป็นผู้ต้องหา กรณีขับซิ่งรถยนต์สปอร์ตหรูยี่ห้อเฟอร์รารี่พุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อายุ 47 ปี ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต โดยลากศพไปใกล้กว่า 200 เมตร บริเวณหน้าปากซอยสุขุมวิท 49 ช่วงเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.55 ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายวรยุทธ ผู้ต้องหา ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน
 
โดยนายฤชา ไกรฤกษ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายคดีอาญาใต้ 1 เจ้าของสำนวน กล่าวว่า หลังจากที่อัยการมีความสั่งฟ้องฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชนตามสำนวนของพนักงานสอบสวน และได้พิจารณาสั่งฟ้องเพิ่ม 1 ข้อหา ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงได้มีการแจ้งกลับให้ ผบ.ตร.ทราบและพิจารณา เมื่อกระบวนการสั่งคดียังไม่เบ็ดเสร็จดังนั้นอัยการจึงเลื่อนการนัดฟังคำสั่งออกไปก่อน ซึ่งผู้ต้องหาได้มอบหมายให้ทนายความรับทราบการเลื่อนนัดแล้ว โดยกำหนดนัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

สำหรับคดีนี้ เดิมพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาเพียง  2 ข้อหา ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน โดยมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง 2 ข้อหา ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และขับรถขณะมึนเมาสุรา ขณะที่อัยการพิจารณาแล้วเห็นควรให้ฟ้องฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดฯ อีก 1 ข้อหา เนื่องหลักฐานจากกล้องวงจรปิดจับภาพรถยนต์ขณะที่ผู้ต้องหาขับผ่านซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ามีความเร็วสูงถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนข้อหาขับรถขณะมึนเมาสุรานั้นมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน เพราะพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ขณะขับรถหรือขณะเกิดเหตุ