posttoday

ชาวบางขุนเทียนโวยเป็นแหล่งรับน้ำเสีย

03 พฤษภาคม 2556

ชาวบางขุนเทียนจัดงาน “คืนถิ่น กินปู ดูทะเล” สภาชุมชนโวยกลายเป็นพื้นที่รับน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม

ชาวบางขุนเทียนจัดงาน “คืนถิ่น กินปู ดูทะเล” สภาชุมชนโวยกลายเป็นพื้นที่รับน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม

ชาวชุมชนทะเลบางขุนเทียน  มูลนิธิชุมชนไท และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “คืนถิ่น กินปู ดูทะเล บางขุนเทียน” ขึ้นระหว่าง 3-5 พฤษภาคม ที่บริเวณสามแยกคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กทม. โดยนายสุทิน  อ่อนฟุ้ง  ประธานคณะจัดงาน และประธานสภาองค์กรชุมชนเขตบางขุนเทียน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความความร่วมมือของชุมชนที่ต้องการประชาสัมพันธ์เรื่องความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศไทย คือ บริเวณอ่าวตัวกอ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านค้าท้องถิ่น และเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ทะเลในพื้นที่มีการแสดงและจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีกว่า 200  ร้าน เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชน ที่สำคัญคือเป็นการแสดงออกให้รับรู้ว่า ทะเลบางขุนเทียนยังมีความสำคัญต่อเกษตรกรที่ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ทะเลมานาน โดยมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเสียภาษีแก่รัฐบาล กว่า 1,200 ราย  หรือคิดเป็น 90 % ของชุมชน ซึ่งประชาชนทุกคนควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการอยู่ และดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิม มากกว่าตกเป็นพื้นที่ขยะแห่งอุตสาหกรรม

นายสุทิน กล่าวต่อว่า  ในอดีตเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยง กุ้ง หอย ปู ปลาทะเล ในพื้นที่เคยมีรายได้สูงถึง 2 แสนบาทต่อเดือน  เพราะสัตว์ทะเลของบางขุนเทียนมีสัตว์น้ำจำนวนมากจนส่งออกไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนมากจะส่งไปที่ปากน้ำสมุทรปราการ   และโรงงานใน มหาชัย จ.สมุทรสาคร  เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่สด สะอาดและปลอดสารพิษ  แต่หลังจากปี 2535 พื้นที่บางขุนเทียนกลายเป็นแหล่งรับน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรมที่มีเพียงแค่ 10 % ของพื้นที่ ซึ่งการระบายน้ำได้ทำลายทรัพยากรอันมีค่า จนเกษตรกรต้องลดปริมาณการลงทุนเลี้ยงสัตว์ลง ส่งผลให้รายได้ที่ยังไม่หักต้นทุนในขณะนี้เหลือเพียง  2 หมื่นบาทต่อเดือน  บางครั้งสัตว์เป็นแผล  เนื้อมีตำหนิก็ถูกกดราคา

“ในแต่ละปี น้ำเสียจากโรงงานทั้งโรงชุบโครเมียม  ฟอกสี ย้อมสี มีการปล่อยน้ำเสีย และกลิ่นเน่าเหม็น ปีละ 3-4 เที่ยว จากเมื่อก่อนเคยมีอาหารทะเลที่สมบูรณ์อย่าง ปลาอีกง ปลาสีซอ  ซึ่งวัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลบางขุนเทียน พบว่า ขณะนี้ชาวประมงหาปลาดังกล่าวยากขึ้น  ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็เบื่อสภาพแวดล้อมที่แย่  บางขุนเทียบจึงเงียบเหงา ไม่ค่อยมีใครมาล่องเรือ ชมป่าชายเลนเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว” นายสุทิน กล่าว

ด้านนายจรัญ ปานอู  สมาชิกสภาเกษตรกร กรุงเทพฯ  กล่าวว่า   สถานการณ์การทำอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น โดย ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ มีการระบายน้ำเข้ามาทางคลองบางหญ้า ติดแขวงท่าข้าม  และแขวงแสมดำ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาน้ำเน่าเสียต่อเนื่อง โดยเปิดประตูน้ำเสียช่วงต้นเดือนมกราคม –พฤษภาคมของทุกปี  ด้วยวิธีการเปิดต่อเนื่อง 7 วัน และปิด 7 วัน พอผ่านช่วงเดือนพฤษภาคมก็จะเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา  ทางเครือข่ายเกษตรกรจึงได้ประสานประมงสมุทรสาครผันน้ำเน่า เพื่อเจือจางบ้าง หลังจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“โดยปกติแล้วการเลี้ยงสัตว์ผ่านน้ำกร่อยในทะเลบางขุนเทียนนั้น สำหรับกุ้งและหอยเกษตรกรใช้เวลาเลี้ยงประมาณ  2 เดือนครึ่ง ก็จับขายได้  ส่วนกุ้งกุลาดำใช้เวลาประมาณ 3 -4  เดือน   ขณะที่ปูขาวใหญ่เลี้ยงนาน  4 เดือน แต่ปู คือ สัตว์ทะเลที่มีปฏิกิริยาต่อน้ำเสียมากที่สุด โดยหากแช่น้ำเสีย 2-3 แล้วลอกคราบไม่ได้ เพราะมีสารเคมีเคลือบแน่น  ก็จะตาย  ไวกว่าสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ปูทะเลบางขุนเทียนเริ่มขนาดเล็กลง เกษตรกรจึงอยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งมาเป็นประธานในการเกิดงานครั้งนี้ ได้เข้ามารับฟังปัญหาและลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยว และประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการรักษาแหล่งผลิตอาหารทะเลนี้อย่างยั่งยืน โดยเรื่องแรกควรที่จะอนุมัติงบประมาณสร้างประตูระบายน้ำเสียก่อน โดยต้องสร้างทั้งหมด 6 ประตู ได้แก่ ประตูท่าข้าม  ประตูราชมนตรี ประตูสะแกงาม  ประตูคลองตรง คลองเลนเปน  คลองละหาน  ระบายสู่คลองอ้อ บางกะดี่ ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร” นายจรัญ กล่าว