posttoday

โพลเผยคนไทยกลัวตกงานต้านต่างด้าว

30 เมษายน 2556

นิด้าโพลเผยปรับค่าแรงขั้นต่ำคนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่เท่าเดิม ค้านแรงงานต่างด้าวไหลเข้ามาทำงานในไทย

นิด้าโพลเผยปรับค่าแรงขั้นต่ำคนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่เท่าเดิม ค้านแรงงานต่างด้าวไหลเข้ามาทำงานในไทย 

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แรงงานไทยในยุคข้าวของแพง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค จำนวน 1,231 หน่วยตัวอย่าง กรณีศึกษาเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ผู้ใช้แรงงาน และรับจ้างทั่วไป  เกี่ยวกับผลจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แรงงานต่างด้าว และการจัดตั้งพรรคแรงงาน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 4.8
 
จากผลการสำรวจ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.86 ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน นั้น องค์กร/ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ของตนไม่ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่ได้รับกระทบเท่าใดนัก และมีการขึ้นค่าแรง 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 9.25 ลดการทำงานล่วงเวลา (Over Time) ร้อยละ 8.10 เพิ่มปริมาณงานที่ทำอยู่ต่อวันมากขึ้น ร้อยละ 7.79 ลดจำนวนลูกจ้างลง ร้อยละ 3.78 เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น และ ร้อยละ 0.23 อื่นๆ เช่น คัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ ลดสวัสดิการบางอย่าง ปรับการบริหารงานภายใน
 
ทั้งนี้ ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ ร้อยละ 55.16 ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ เท่าเดิม เพราะปกติก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว ส่วนที่ได้มาก็ใช้จ่ายไปวันๆ ไม่มีผลกระทบอะไร ก็ยังเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.49  ระบุว่า ดีขึ้น เพราะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงมีเงินเพียงพอสำหรับในการใช้จ่ายมากขึ้น และบางส่วนก็เหลือเก็บเป็นเงินออม และ ร้อยละ 15.35  ระบุว่า แย่ลง เพราะ ข้าวของก็มีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย และสินค้าบางอย่างก็มีราคาที่แพงมากกว่าปกติ
 
เมื่อถามถึงการที่รัฐบาลอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.79 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จะทำให้คนไทยตกงาน และกังวลในเรื่อง ความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ มีการอพยพเข้ามาอยู่กันเยอะ รองลงมา ร้อยละ 42.73 เห็นด้วย เพราะ คนไทยเลือกงาน งานบางอย่างคนไทยไม่ค่อยชอบทำ เหมาะกับแรงงานต่างด้าวมากกว่า และเป็นการเปิดโอกาสให้กับแรงงานต่างด้าว และ เมื่อจำแนกตามระดับระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่จบระดับการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไป มีสัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วย มากกว่าผู้ที่จบระดับการศึกษาต่ำกว่าอนุปริญญา
 
ท้ายสุดเมื่อถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดตั้ง “พรรคแรงงาน”และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.83 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ มีผู้ใช้แรงงานเยอะ เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน น่าจะเป็นผลดี รองลงมา ร้อยละ 13.48 ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะสู้สองพรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ และ ร้อยละ 21.69 ไม่แน่ใจ