posttoday

ทีดีอาร์ไอแนะเพิ่มชดเชยผู้เสียหายจากรถสาธารณะ

11 เมษายน 2556

ทีดีอาร์ไอ ชี้ อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยังน่าห่วง เรียกร้องผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบ และเพิ่มวงเงินชดเชย

ทีดีอาร์ไอ ชี้ อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะยังน่าห่วง เรียกร้องผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบ และเพิ่มวงเงินชดเชย

นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่าจากการศึกษา“โครงการอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ: ผลกระทบ การประกันภัย และการชดเชยเยียวยา” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้สัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุทั้ง 142 ตัวอย่างจากรายชื่อกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุที่ได้รับจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบริษัทขนส่ง (บขส.) พบว่าผู้ประสบเหตุต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งในระหว่างและหลังออกจากโรงพยาบาล

โดยผู้ประสบเหตุ 54% ของทั้งหมดใช้ระยะเวลารักษาพยาบาลมากกว่า 1 เดือน จึงจะสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ, จำนวนเงินชดเชยที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลจริง, การเรียกร้องค่าเสียหายใช้ระยะเวลานานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประสบเหตุจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งมักจะยุติคดีความจากการดำเนินการในชั้นศาล ขณะที่กลุ่มผู้ประสบเหตุจาก บขส. ส่วนใหญ่ยุติคดีความโดยไม่พึงศาล ในส่วนระยะเวลาการไกล่เกลี่ยและเรียกร้องค่าเสียนั้น มีระยะเวลาเฉลี่ย 18-19 เดือน ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีปัญหาด้านความล่าช้าในการพิสูจน์ถูกผิด ในขณะที่ทาง บขส.พบปัญหาในเรื่องการขาดความเข้าใจในสิทธิคุ้มครองและการต้องการจบปัญหาโดยเร็ว แม้จะไม่ๆได้รับความเป็นธรรม

ในส่วนของการชดเชยเยียวยาต่อผู้ปะสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควร คือ วงเงินคุ้มครองกรณีบาดเจ็บเมื่อรวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้วไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตนั้นจะได้รับค่ารักษาพยาบาลบวกเงินชดเชยไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ชดเชยสำหรับผู้ประสบเหตุบาดเจ็บทั่วไปนั้นเหมาะสม แต่ไม่เหมาะสมในกรณีที่บาดเจ็บร้ายแรง เนื่องจากเมื่ออาการบาดเจ็บร้ายแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงิน 50,000 บาท ทำให้ได้รับเงินชดเชยที่ไม่เพียงพอ

ส่วนค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้นั้น พบว่า จำนวนเงินที่ได้รับมีความเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับค่าขาดรายได้ที่ผู้ประสบเหตุระบุและเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยและระยะเวลาที่ขาดรายได้

ดร.สุเมธ กล่าวว่า แนวทางที่เหมาะสมในเรื่องผลกระทบการเยียวยาผู้ประสบเหตุจากรถสาธารณะคือการปรับปรุงค่าเสียหายเบื้องต้น ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพลภาพอย่างถาวร จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 400,000 บาท หากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาท อีกทั้งยังยังต้องแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบเหตุ ได้แก่ ความล้าช้าในการพิสูจน์ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จทำให้ใช้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายยาก ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ประสบเหตุด้วย

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการผู้ถือใบอนุญาต และผู้ประกอบการร่วมบริการ และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบและป้องกันจากการกำหนดเบี้ยประกัน โดยเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละราย

ทั้งนี้ อาจนำผลการศึกษานี้ไปเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทประกันภัย ในการปรับปรุงระบบประกันภัยและการเพิ่มวงเงินประกัน อีกหนึ่งหน่วยงานคือ กรมขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรถโดยสารประจำทาง ที่จำเป็นต้องกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพรถประจำทาง รวมถึงการกำหนดวงเงินชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมสำหรับผู้โดยสารรถประจำทางเพิ่มเติม ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นช่องทางที่มีความเป็นไปได้สูง โดยอาจกำหนดให้รถโดยสารประจำทางมีประกันภาคสมัครใจ หรือมีการเพิ่มวงเงินคุ้มครองเพิ่มเติมจาก พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก็จะทำให้ผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะได้รับการคุ้มครองที่ทันท่วงทีและเหมาะสมมากขึ้น