posttoday

แฉเล่ห์บ.น้ำเมาโหมทำการตลาดช่วงสงกรานต์

11 เมษายน 2556

นักวิชาการเผยบริษัทน้ำเมาโหมทำการตลาดช่วงสงกรานต์ งัด2กลยุทธ์"เอ็นเตอร์เทนเมนท์-เซ็กซี่มาเก็ตติ้ง"ดึงลูกค้า เ หวังกระตุ้นการดื่ม-ฟันกำไรบนความสูญเสีย

นักวิชาการเผยบริษัทน้ำเมาโหมทำการตลาดช่วงสงกรานต์ งัด2กลยุทธ์"เอ็นเตอร์เทนเมนท์-เซ็กซี่มาเก็ตติ้ง"ดึงลูกค้า เ หวังกระตุ้นการดื่ม-ฟันกำไรบนความสูญเสีย

ดร.ศรีรัช  ลอยสมุทร  คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลยุทธ์เพิ่มยอดขายในช่วงสงกรานต์ว่า เทศกาลสงกรานต์คือช่วงเวลาที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากที่สุด เน้นโหมการตลาดจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขายจึงทำให้สงกรานต์กลายเป็นเทศกาลขายสินค้าเหล้าเบียร์ สำหรับกลยุทธ์การตลาด มักจะมาในรูปแบบเดิมเหมือนเช่นทุกปี แต่อาจพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและแข่งขันกันรุนแรงขึ้น คือการทำการตลาด ที่เรียกว่า“เอนเตอร์เทนเมนต์ มาร์เกตติ้ง” เอาความสนุกสนานมาบังหน้า นำเอาวงดนตรีเข้ามาใช้ในการสร้างแบรนด์ สร้างกิจกรรมการตลาดกว่า100% และการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้คือ “เซ็กซี่มาเก็ตติ้ง”  เป็นการทำการตลาดที่เน้นจุดขายทางเพศ ดึงผู้หญิง สวย หุ่นดี มาเป็นตัวนำ เช่น ใช้ผู้หญิงให้นุ่งน้อยห่มน้อยแต่งตัวล่อแหลมมาเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งเป็นการตลาดที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม และประเทศไทยมีนายกฯเป็นผู้หญิงควรส่งเสียง หรือมีนโยบายควบคุมในเรื่องนี้บ้าง

“แทบทุกบริษัท ทุกยี่ห้อ จะเน้นเอนเตอร์เทนเมนท์มาร์เกตติ้งอย่างมากในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะการดึงวงดนตรีที่เป็นที่นิยมมาลงเวทีคอนเสิร์ตของตนเอง และที่สำคัญ คือ เป็นเวทีสัญจรหลายจังหวัด จัดยาวนานต่อเนื่องหลายวัน ประเด็นนี้ควรจับตาเฝ้าระวัง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ปาร์ตี้โฟม แดนซ์โชว์ เพราะแน่นอนว่าผู้ที่พบเห็นโดยเฉพาะเยาวชนผู้ชาย หากมีสาวออกมาเต้น มาโพสต์ท่านุ่งน้อยห่มน้อยให้ดู เป็นใครก็ต้องอยากดู อีกทั้งส่วนหนึ่งก็จะผสมผสานไปกับความบันเทิง เกิดแรงจูงใจทำให้คนเข้ามาดูและเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการใส่เสื้อสกรีนโลโก้ แสดงสัญลักษณ์ตราสินค้า หรือมีการถือป้ายโฆษณาในรูปแบบต่างๆของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสร้างการจดจำตราสินค้าเป็นการเพิ่มยอดขาย ซึ่งการตลาดดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้มีการดื่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กเยาวชนจำนวนมาก อาจครองสติไม่ได้ นำไปสู่ปัญหา เช่น ทะเลาะวิวาท ลวนลาม  ละเมิดทางเพศ ไปจนกระทั่งก่ออาชญากรรม ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมต้องแบกรับภาระในช่วงสงกรานต์” ดร.ศรีรัช  กล่าว

ดร.ศรีรัช  กล่าวอีกว่า เทศกาลสงกรานต์นี้อยากเรียกร้องธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทำการตลาดสีขาว สร้างสรรค์ มีจริยธรรม ไม่ฉกฉวยประโยชน์จากสังคม ไม่มอมเมา ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ก้าวข้ามไปสู่กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มเยาวชน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ พิการ เสียชีวิต เยาวชนหญิงถูกลวนลามเพราะคนเมา ถามว่าบริษัทเหล่านี้จะรับผิดชอบหรือไม่  อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาตามสถานที่เล่นน้ำที่สุ่มเสี่ยงและสถานบันเทิง รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังเข้มงวด เริ่มตั้งแต่การควบคุมและตรวจสอบใบอนุญาตจำหน่ายสุรา รวมถึงร้านค้าส่ง มีการตรวจตราเชิงรุกอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอ มีมาตรการโซนนิ่งร้านค้าและสถานบันเทิง บังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการร้าน พนักงานเสิร์ฟ หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมาย ซึ่งเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในช่วงสงกรานต์ด้วย