posttoday

ผบ.ทบ.ยังไม่สรุปพลทหารถูกอุ้มฆ่าเป็นการแก้แค้น

03 เมษายน 2556

ประยุทธ์ ยังไม่สรุป พลทหารนาวิก ถูกอุ้มฆ่าเป็นการแก้แค้นของกลุ่มก่อความไม่สงบ เล็งหาที่พักที่ปลอดภัยให้กำลังพลเตรียมคุยตำรวจช่วยรปภ.เป้าหมายอ่อนแอ

ประยุทธ์ ยังไม่สรุป พลทหารนาวิก ถูกอุ้มฆ่าเป็นการแก้แค้นของกลุ่มก่อความไม่สงบ เล็งหาที่พักที่ปลอดภัยให้กำลังพลเตรียมคุยตำรวจช่วยรปภ.เป้าหมายอ่อนแอ

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พลทหารมะอีลา โตะลู สังกัดพัน ร.7 กองพลนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ ถูกคนร้ายจับตัวไปยิงจนเสียชีวิตว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ส่วนที่เป็นห่วงว่า อนาคตอาจเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกนั้น ต้องหามาตรการในการป้องกันตนเอง ทั้งนี้ตนได้สั่งการว่า หากยังไม่ชัดเจนกำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ส่วนไหนที่มีอันตรายก็ยังไม่ให้กำลังพลรีบกลับบ้าน โดยให้ไปหาที่พักที่ปลอดภัยก่อนจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย ทั้งนี้เราจะต้องดูแลอย่างเต็มที่และให้กำลังใจ ให้ความเป็นห่วง และกำชับกำลังพลเวลาเดินทางกลับไปพักที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องตามแก้ไขตราบใดที่ยังปฏิบัติการใช้กฎหมายปกติอย่างเต็มที่ โดยเราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษในเรื่องการใช้ความรุนแรงเพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องใช้กฎหมายพิเศษให้เข้มงวดขึ้นในหลายข้อและหลายมาตรการ

“วันนี้กฎหมายพิเศษเราใช้อยู่ข้อเดียวคือการตรวจค้นจับกุม ส่วนปัญหาที่ผู้ก่อความไม่สงบแต่งกายเลียนแบบทหารนั้น เป็นปัญหาเดิมที่ต้องพยายามแก้ไขกัน แต่อย่าคิดว่ามันไม่ก้าวหน้า เพราะมันต้องก้าวหน้า แต่ถ้าเราทำสำเร็จเขาจะไปเริ่มต้นอีกอย่าง ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ อย่าไปให้เครดิตคนอื่นเขามากนัก ขอให้เชื่อมั่นในคนของเรา วันนี้ต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ว่าทำได้ดีตรงที่ไม่ทำให้เหตุการณ์รุกลามบานปลายไปถึงสากล ลูกน้องเราเขาอดทน เสี่ยงอันตรายและทำหน้าที่ตาม ยุทธศาสตร์ทั้งหมด" ผบ.ทบ.กล่าว

เมื่อถามว่ามองว่า อนาคตจะมีการจับตัวทหารไปเป็นตัวประกันและนำไปสังหารอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มี แต่หากสื่อถามมากอาจจะมีก็ได้ อย่าไปถามชี้ช่อง ผู้ก่อการร้ายไม่ได้จับได้ทุกที่ ตรงไหนที่เปลี่ยวและไม่มีเจ้าหน้าที่ เขาจะทำได้มากขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น ดังนั้นทหารต้องหลุดออกมาจากภารกิจเชิงรับให้มากขึ้น ซึ่งต้องมีการหารือกับตำรวจว่าจะทำอย่างไรจะรับเป้าหมายอ่อนแอไปดูแลได้บ้าง ซึ่งเราจะได้วางกำลังแบบยุทธวิธีทางทหารให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการปิดล้อมเมือง โดยต่างประเทศทำอย่างนี้เหมือนกันหมด ซึ่งจะมีการปิดกั้นเส้นทางห้ามเข้า-ออก แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะเมื่อเราคิดและเสนอไปมีปัญหาทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ต้องเชื่อมั่น วันนี้ทหารและตำรวจทำงานดีมาก

ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีการไปทำนอกระบบ เพราะรู้ว่า ถ้าทำผิดอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้เราต้องสู้ในฐานะเจ้าหน้าที่และต้องเห็นใจเขา ส่วนทหารที่กลับบ้านระหว่างการไปพักนั้น ต้องดูแลตนเอง เพราะไม่สามารถส่งทหารไปช่วยดูแลได้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียงพอ เนื่องจากจำนวนทหารที่กลับไปพักก็ทำให้สัดส่วนของทหารแต่ละฐานลดลงไป1 ใน 3

“ทุกคนต้องดูแลตัวเอง และต้องเห็นใจทหารที่กลับไปพักเพราะเขาถืออาวุธไปไม่ได้ ไม่เหมือนกับบางประเทศ ถ้าเป็นโจรถืออาวุธได้ทุกที่ ส่วนการอุ้มฆ่าพลทหารครั้งนี้เป็นการแก้แค้นของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่นั้นยังไม่รู้ ต้องให้ทางหน่วยมีการตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ ถ้าใช่เราต้องคิดอยู่แล้วว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไป อย่างที่ผมเคยบอกว่า คนทำงานในพื้นที่อาจจะต้องทำงานกันคนละพื้นที่ นอกจากนี้จะต้องดูแลว่า ช่วงนี้จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย หรืออาจจะต้องหาที่อยู่ชั่วคราว ทั้งนี้กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1 ,2 และ 3 ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นกำลังนอกพื้นที่ เมื่อออกนอกพื้นที่ก็จะกลับไปพักที่บ้านจึงทำให้อันตรายลดน้อยลง ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังมีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้ง พลเรือน ตำรวจ และ ทหารอันตรายอยู่แล้ว ดังนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย เหตุการณ์รุนแรงลดน้อยลง เพราะเจ้าหน้าที่เพิ่มมาตรการและยุทธวิธีในพื้นที่มากมาย แต่ติดภารกิจในเชิงรับ เป้าหมายอ่อนแอ ถ้าลดภารกิจตรงนี้ได้กำลังเหล่านี้ก็จะมาดูแลอย่างอื่นได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว