posttoday

ไฟเขียวค่าตอบแทนสธ.เริ่มใช้1เม.ย.

31 มีนาคม 2556

ครม.เห็นชอบเกณฑ์ค่าตอบแทนเหมาะจ่ายบุคลากรทางการแพทย์สธ.เริ่มใช้ 1 เม.ย. ชี้ช่วยจู.ใจออกไปทำงานพื้นที่ทุรกันดาร

ครม.เห็นชอบเกณฑ์ค่าตอบแทนเหมาะจ่ายบุคลากรทางการแพทย์สธ.เริ่มใช้ 1 เม.ย. ชี้ช่วยจู.ใจออกไปทำงานพื้นที่ทุรกันดาร

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเสนอให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2556 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2557 (ระยะที่1) ตามมติคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2556

"นโยบายของนายกฯต้องการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนตามความเป็นจริง เพราะปกติการจ่ายค่าตอบแทนจะแบ่งเป็นพื้นที่เขตเมือง และแบบทุรกันดาร ซึ่งพื้นที่ทุรกันดารมีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่ในอดีตแต่ปัจจุบันการพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่เป็นพื้นที่เขตเมืองจากที่เคยเป็นพื้นที่ทุรกันดารจึงมีการกำหนดค่าตอบแทนเหมาจ่ายใหม่แต่ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด แต่จะมีการเพิ่มในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานด้วยที่จะมีการกำหนดสัดส่วนออกเป็นสองระยะ"ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว

ทั้งนี้ในระยะแรกจะมีผลตามกฎหมายวันที่ 1 เม.ย. 2556 อาทิ อัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่จะจ่ายให้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะแบ่งออกเป็นระยะเวลาในการทำงาน คือกลุ่มที่ทำงาน 1 - 3 ปี 4 - 10 ปี และ 11 ปีขึ้นไป

ในกลุ่มทำงาน 1 - 3 ปี นั้นค่าตอบแทนสำหรับแพทย์และทันตแพทย์ในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติจะได้เฉลี่ย 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทุรกันดารมากเฉลี่ยอัตราใหม่จะได้เหมาจ่าย 3 หมื่นบาท ส่วนทุรกันดารปกติจะได้ 2 หมื่นบาท ซึ่งอัตราใหม่จะส่งเสริมความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ที่ห่างไกล จะเป็นการดึงดูดใจให้บุคลากรทางการแพทย์อยากไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดารมากขึ้นเพื่อกระจายความเป็นธรรมให้ประชาชนให้ได้รับบริการทางการแพทย์

นอกจากนี้ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเจ้าหน้าที่ระดับอื่น ได้แก่ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่อื่น ที่มีช่องว่างในการรับค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์ที่ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายหลักหมื่นบาท อาทิ เภสัชกร ถ้าทำงานในพื้นที่ชุมชนเมืองจะได้รับค่าตอบแทน 2,500 บาท แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะได้ 8,000 - 10,000 บาท ที่ได้มากขึ้นกว่าหลักเกณฑ์เก่า เพราะคนที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลต้องได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนพื้นที่เมือง ในขณะเดียวกันพยาบาลและบุคลากรอื่นก็จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกันถ้าทำงานในพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตามหากมีผู้ใดได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรวมกับค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เคยได้รับอยู่เดิมอย่างมีนัยสำคัญ ให้ สธ. พิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือในกรณีดังกล่าวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า ครม.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลที่เกิดขึ้น สรุปเสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ก่อนเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งก่อนดำเนินงานในระยะที่2