posttoday

ผลสำรวจพบเด็กไทย 70% ไม่เข้ารั้วอุดมศึกษา

29 มีนาคม 2556

สสค.-ยูเนสโก ปฏิรูปหลักสูตรการสอน เน้นสร้าง “ทักษะ”มากกว่า “เรียนเนื้อหา” ชี้ไทยเผชิญสถานการณ์ 3 เด้ง “แก่-จน-โง่”

สสค.-ยูเนสโก ปฏิรูปหลักสูตรการสอน เน้นสร้าง “ทักษะ”มากกว่า “เรียนเนื้อหา”  ชี้ไทยเผชิญสถานการณ์ 3 เด้ง “แก่-จน-โง่”

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับองค์การยูเนสโก และคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร จัดประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาและประชุมปฏิบัติการเพื่อการปฎิรูปหลักสูตรการศึกษา โดย ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นหลักสูตรที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 หรือกว่า 12 ปี แม้จะมีการปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อยในปี 2551 ขณะที่หลักสูตรการสอนในอุดมศึกษามีการทบทวนเนื้อในทุก 5 ปี จึงเป็นที่มาของการปรับหลักสูตรการสอนขั้นพื้นฐานเพื่อสอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเน้นหลักสูตรที่นำไปสู่การปฏิบัติ

ข้อมูลจาก สสค. ที่คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรต้องตระหนัก คือ ส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนี้มีถึง 70% ที่ไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษาและต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีเพียง 30% ที่จบอุดมศึกษา และในจำนวนนี้มีเพียง 10% เท่านั้นที่จบมาแล้วได้งานทำใน 1 ปี ดังนั้นระบบการศึกษาพื้นฐานจึงไม่ควรตอบสนองเพียงแค่เด็กที่เข้าสู่อุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศ 

ดร.ภาวิช กล่าวว่า ต่อไปจะมีการปฏิรูปครู เพราะขณะนี้พบปัญหาที่สำคัญคือ การผลิตครูที่มีจำนวนมากแต่กระทบต่อคุณภาพและการมีงานทำ ขณะนี้มีผู้ที่มีใบอนุญาตการสอนถึง 1 ล้านคน และเป็นครูอยู่ 600,000 คน หากเทียบอัตราส่วนระหว่างนักเรียนและครูขณะนี้คือ ครู 1 คนต่อนักเรียน 19 คน ซึ่งอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม แต่ปัญหาคือความล้มเหลวของการกระจายครู ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนครูในบางพื้นที่ หากมีระบบไอซีทีที่ดีก็จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ จึงกำลังเสนอการขับเคลื่อนไอซีที โดยรัฐบาลเตรียมจัดทำระบบไซเบอร์โฮม เพื่อใช้ไอซีทีที่เข้าถึงทุกบ้าน

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค. คนที่ 2 กล่าวว่า ปฏิรูปการศึกษาต้องนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไม่ใช่แค่ปฏิรูปเพื่อการศึกษา เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ 3 ด้าน คือ “แก่ จน และโง่” นั่นคือ 1. ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมวัยชรา สิ่งที่ได้เห็นขณะนี้คือโรงเรียนร้างและการยุบรวมโรงเรียนเกิดขึ้น 1 ใน 3 ของโรงเรียนในขณะนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเห็นร.ร.อาชีวะร้างเกิดขึ้น 2. ความยากจน เป็นโชคร้ายของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอเพื่อยังชีพเมื่อเข้าสู่วัยชรา และ 3. ระดับการศึกษาของแรงงานไทยที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ จะพบว่าเด็กที่จบม.3 แล้วยังคิดเลขไม่ได้ หรือมีปัญหาด้านการอ่าน ขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา และบางส่วนแม้จะจบการศึกษาแต่ยังขาดประสิทธิภาพการทำงานและปัญหาการสื่อสาร คนไทยไปเป็นแม่บ้านต่างชาติเหมือน ฟิลิปฟินส์ไม่ได้ เพราะสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ ช่างฝีมือไทยจะไปทำงานต่างประเทศก็ติดปัญหาเรื่องภาษา

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า การศึกษาไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่มีคุณภาพโดยส่งเสริมให้กลุ่มวัยแรงงานได้ศึกษาต่อเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยใช้โรงเรียนที่ว่างอยู่เปลี่ยนเป็นที่เรียนหนังสือกลางวันของเด็ก และเป็นที่ฝึกอาชีพของผู้ใหญ่ในช่วงกลางคืน เพราะเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาพื้นฐานมีเพียง 10 ล้านคน ขณะที่เราทิ้งประชากรวัยแรงงานถึง 35 ล้านคนเอาไว้ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ในอนาคตก็ยังคงเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศ เพราะแนวโน้มอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลง ดังนั้นการเราหวังรวยใน 1-2 ทศวรรษนี้ ยังต้องลงทุนพัฒนาคนในกลุ่ม 35 ล้านคนนี้

“การปฏิรูปการศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศต้องนำไปสู่การทำงานและการมีงานทำ ไม่ใช่การไต่บันไดเพื่อเข้าอุดมศึกษา เพราะสถิติของผู้ที่ตกงานสูงสุดคือ ป.ตรี วุฒิการศึกษาจึงไม่ใช่หลักประกันของการมีงานทำ หากจัดหลักสูตรการสอนที่ยึดตารางเรียนแบบเข้า 8โมง เลิก 4 โมงเย็นจะไปไม่รอด เพราะหลักสูตรนี้เป็นการรับจ้างเรียนหนังสือไม่เหมาะกับคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่ต้องออกมาหาเช้ากินค่ำ รวมทั้งกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระบบได้ ซึ่งมีถึง 1.2 ล้านคน และควรเป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะการปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึงการส่งเสริมให้สถานประกอบการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว 

นายสงพงษ์ จิตระดับ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า วิกฤตการศึกษาบ้านเราเป็นการอัดฉีดให้เด็กมุ่งสอบโอเน็ตโดยเน้นติว จึงเป็นการฆ่าโรงเรียนขนาดเล็กเพราะผลคะแนนโอเน็ตยังผูกกับวิทยฐานะ ทำให้แต่ละโรงเรียนต้องเร่งติวเพื่อสอบ ดังนั้นหลักสูตรและการประเมินจึงไม่ควรใช้วิธีการแบบลู่เดียวสำหรับเด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่  

 นางสเตลล่า ยู นักวิเคราะห์นโยบายการศึกษาของยูเนสโก กล่าวถึงผลการศึกษา“การปฏิรูปหลักสูตรในต่างประเทศ”ว่าการปรับหลักสูตรในแต่ละประเทศนั้น เด็กและเยาวชนต้องได้รับการศึกษาที่สอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ โดยสิ่งที่เรียนต้องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากในอดีตที่ “หลักสูตรเก่า” มักถูกสร้างขึ้นเพื่อ “ถ่ายทอดความรู้” ขณะที่ “หลักสูตรใหม่” ถูกสร้างขึ้นเพื่อพัฒนา “ทักษะ” ของผู้นำไปใช้ ดังนั้นหลักสูตรจึงสามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การจัดหลักสูตรจากส่วนกลาง 2)การจัดหลักสูตรแบบยืดหยุ่น และ 3) การจัดหลักสูตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 นั้น “ทักษะ” มีความสำคัญและจำเป็นมากกว่า“องค์ความรู้” ซึ่งสามารถหาได้ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กเยาวชนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

นางสเตลล่า ได้พูดถึงแนวโน้มของโลกในการปฏิรูปหลักสูตร โดยยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่ได้รับการจัดอันดับ 1 หลายสมัยจากสถาบัน OECD ว่าใช้หลักสูตรผสมผสาน คือ แม้จะมีหลักสูตรแกนกลาง แต่หน่วยงานจัดการศึกษาระดับท้องถิ่นหรือสถานศึกษาสามารถปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์และความต้องการที่จำเป็นของผู้เรียนได้

ส่วนประเทศญี่ปุ่น มีการทบทวนหลักสูตรทุก 10 ปี โดยกระทรวงศึกษาธิการจะทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และ กระทรวงเทคโนโลยี (MEXT) ในการวางรากฐานของหลักสูตรร่วมกัน เพื่อสร้างและขัดเกลาให้เด็กเยาวชนมีบุคลิกที่เฉพาะตัว บนพื้ฐานของความสนุกในการใช้ชีวิตและสร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ  1.ความสามารถทางวิชาการ(Academic Abilities) เช่น การคิดวิเคราะห์ ประเมินได้อย่างเป็นอิสระ การค้นหาคำตอบและการแก้ปัญหา 2.จริยธรรมและคุณธรรม(To Be Rich in Humanity) และ3.จิตใจที่สดใสในร่างกายที่สมบูรณ์(A Sound of Body) ขณะที่ประเทศสิงคโปร์จะเน้นหลักสูตรที่ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่ไม่ทิ้งทักษะชีวิตและการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านลักษณะการทำงานเป็นโปรเจก เป็นต้น