posttoday

โพลล์ชี้ความสุขคนไทยลด-กทม.รั้งท้าย

20 มีนาคม 2556

เอแบคโพลล์ เผย ความสุขคนไทยลดลงเหลือ 6.58 เต็ม 10 จาก 7.61 ในเดือน ม.ค. พบ แม่ฮ่องสอน สุขมากสุด ส่วน กทม.น้อยสุดจากปัจจัยการเมือง

เอแบคโพลล์ เผย ความสุขคนไทยลดลงเหลือ 6.58 เต็ม 10  จาก 7.61 ในเดือน ม.ค.  พบ แม่ฮ่องสอน สุขมากสุด ส่วน กทม.น้อยสุดจากปัจจัยการเมือง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย เรื่อง ผลการจัดอันดับจังหวัด แห่งความสุขของประเทศไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน12,429 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-19 มีนาคม พ.ศ.2556 โดยมีความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ความสุขจากเป็นความรู้สึกที่มากกว่าความพึงพอใจของประชาชนภายในประเทศต่อดัชนีความสุข 17 ตัวชี้วัด พบว่าคนไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 7.61 คะแนนเต็ม 10 ในเดือนธันวาคมปี 2555 มาอยู่ที่ 6.58 ในผลวิจัยครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความสุขที่มีค่าสูงสุด หรือ 9.23 คะแนนยังคงอยู่ที่การได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือ บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 7.28 ในขณะที่ หน้าที่การงาน การประกอบอาชีพที่ทำอยู่ปัจจุบันอยู่ที่ 7.20 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.18 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.14 วัฒนธรรมประเพณีในปัจจุบัน อยู่ที่ 7.07 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอยู่ที่ 6.75 สาธารณูปโภคที่พักอาศัยอยู่ที่ 6.56 การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีอยู่ที่ 6.51 ฐานะทางการงาน เรื่องค่าครองชีพของคนในครอบครัวอยู่ที่ 6.18 การศึกษาอยู่ที่ 6.11 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ที่ 6.08 ความเป็นธรรมในสังคมอยู่ที่ 5.39 สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่ป่า สัตว์ป่า และแหล่งน้ำ อยู่ที่ 5.36

ทั้งนี้ ดัชนีความสุขที่สอบตกเพราะต่ำกว่าเกณฑ์ครึ่งหนึ่ง ได้แก่ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ของรัฐบาลและการปกครองท้องถิ่นมีอยู่เพียง 4.08 คะแนน รวมถึงสถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม อยู่ที่ 4.02 คะแนน และคุณภาพนักการเมืองและจริยธรรมทางการเมืองที่มีอยู่เพียง 3.04 คะแนนเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ ผลการจัดอันดับค่าร้อยละของประชาชนที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัด พบว่าจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุดอันดับ 1ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ได้ร้อยละ 60.9 อันดับ 2 ได้แก่ พังงา ได้ร้อยละ 60.7 อันดับ 3 ได้แก่ ชัยภูมิ ได้ร้อยละ 60 อันดับ 4 ได้แก่ ปราจีนบุรี ได้ร้อยละ 57.0 อันดับ 5 ได้แก่ อุทัยธานี ได้ร้อยละ 56.6 อันดับ 6 มี 2 จังหวัดได้แก่ จันทบุรีและสุโขทัย ได้ร้อยละ 56.3 อันดับ 7 มี 2 จังหวัดได้แก่ พะเยาและแพร่ ได้ร้อยละ 55.6 อันดับ 8 ได้แก่ น่าน ได้ร้อยละ 54.8 อันดับ 9 ได้แก่ หนองคาย ได้ร้อยละ 54.3 และอันดับ 10 ได้แก่ ลำปาง ได้ร้อยละ 53.9

นายนพดล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนอยู่ในจังหวัดแห่งความสุขของประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลัก วิถีชีวิตชาวบ้าน เป็นเมืองที่สงบ เป็นสังคมขนาดเล็ก มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวและชุมชน ผู้คนมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูง คดีอาชญากรรมต่ำ มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น มีความเป็นเมืองและลักษณะวัตถุนิยมระดับน้อยถึงปานกลาง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ คนในพื้นที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่ประชาชน

ส่วนจังหวัดที่อยู่ในอันดับสุดท้ายคืออันดับที่ 77 ของประเทศคือ กรุงเทพมหานคร ได้เพียงร้อยละ 20.8 อันดับที่ 76 ได้แก่ สมุทรปราการ ได้ร้อยละ 22 และอันดับที่ 75 ได้แก่ ภูเก็ต ได้ร้อยละ 24.2

นอกจากนี้ อันดับที่ 74 ได้แก่ ลพบุรี อันดับที่ 73 ได้แก่ นราธิวาส อันดับที่ 72 ได้แก่ นครศรีธรรมราช อันดับที่ 71 ได้แก่ สิงห์บุรี อันดับที่ 70 ได้แก่ ระยอง อันดับที่ 69 ได้แก่ ยะลา และอันดับที่ 68 ได้แก่ สงขลา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จังหวัดเหล่านี้รั้งท้ายในเรื่องความสุขของคนในพื้นที่ ได้แก่ ความเป็นเมืองและมีลักษณะวัตถุนิยมระดับมากถึงมากที่สุด มีคดีอาชญากรรมสูง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนอยู่ในขั้นวิกฤต มีปัญหายาเสพติด มีพฤติกรรมดื่มสุรามาก เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงแตกแยก มีอคติต่อกันสูง มีอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย ผู้คนไม่สามัคคี

นายนพดล กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้กำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะลดทอนความสุขของประชาชน แต่เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถอยู่เป็นสุขได้ทุกสถานการณ์จึงขอเสนอ “โรดแมพความสุขประเทศไทย” ดังนี้ 1.ช่วยกันกระตุ้นจิตสำนึก “กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน” ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพื่อรักษา “ค่านิยมร่วม” (Common Values) 2.ทำให้เกิดความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล (Trust in the Government) ต้องเปิดเผยรายละเอียดของงบประมาณบนเว็บไซต์ของรัฐบาลที่ทำให้สาธารณชนสามารถแกะรอยตรวจสอบได้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

3.หนุนเสริมความวางใจของสาธารณชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (Trust in the Public Officials) โดยเปิดเผยรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ว่านำเงินไปใช้จ่ายด้านใดบ้าง และ 4.กำหนดเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Goals) เช่น ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน ในการกำหนดนโยบายสาธารณะและทิศทางการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อประโยชน์ของทุกคนในชาติ จึงจำเป็นที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อทำงานร่วมกับชาวต่างชาติทั่วโลกที่มาประเทศไทยได้