posttoday

ภราดรรับสุดท้ายแก้ปัญหาใต้ตั้งมหานครปัตตานี

12 มีนาคม 2556

เลขา สมช. ชงครม.ต่อพรก.ใต้ สั่งคุมเข้มสถาปนา 13 มี.ค. เผย เจรจา 28 มีค.อาจมีกลุ่มอื่นด้วย หวังลด หรือ ยุติไฟใต้รับสุดท้ายแก้ปัญหาใต้ แนวโน้มตั้งมหานครปัตตานี

เลขา สมช. ชงครม.ต่อพรก.ใต้ สั่งคุมเข้มสถาปนา 13 มี.ค. เผย เจรจา 28 มีค.อาจมีกลุ่มอื่นด้วย หวังลด หรือ ยุติไฟใต้รับสุดท้ายแก้ปัญหาใต้ แนวโน้มตั้งมหานครปัตตานี

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี  ถึงการเฝ้าระวังเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจเกิดขึ้นในวันครบรอบ 53 ปี วันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น วันที่ 13 มี.ค. ว่า เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติการอยู่แล้ว เพราะในทุกปีก็มักจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าปีนี้แนวโน้มของสถานการณ์น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ส่วนการต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สมช.ได้เสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เป็นการต่ออายุครบทุกพื้นที่ พร้อมแนบข้อเสนอแนะว่า พื้นที่ 5 อำเภอใน 3 จังหวัด สามารถปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรได้

“หากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลงจริง องค์ประกอบหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ บรรยากาศการพูดคุย และสิ่งสำคัญคือความพร้อมของฝ่ายกำลังตำรวจ ทหาร และพลเรือน แต่ขณะนี้ ตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ และยังมีโอกาสที่จะลดโทนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ได้ ซึ่งต้องขอดูสถานการณ์อีกเล็กน้อย” พล.ท.ภราดร กล่าว

ส่วนที่มีข่าวว่าแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ภาครัฐได้เซ็นสัญญาสันติภาพด้วย ต้องการให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ พล.ท.ภราดร  ยอมรับว่า มีการประสานมาบ้าง แต่ยังไม่เป็นทางการ และไม่มีความชัดเจน  คงจะพูดคุยอีกครั้ง วันที่ 28 มี.ค.นี้  สมช.จะยื่นเงื่อนไขคือ การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ควบคู่ด้วย และถ้ายุติความรุนแรงได้ ก็จะยิ่งดีมาก ขณะที่การเจรจาพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบอื่น ๆ ยังคงมีการประสานงานกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เป็นต้นมา

“นายฮัสซัน ตอยิบ บอกว่า ถ้ากลุ่มก่อความไม่สงบอื่นจะมาร่วมพูดคุยได้ วันที่ 28 มี.ค.นี้ได้ ก็จะมา แต่ถ้ามาไม่ได้ในวันดังกล่าว เชื่อว่าหลังการพูดคุยตกผลึกกันแล้ว จะสามารถจูงใจให้กลุ่มอื่นมาร่วมคุยได้ แต่จะไม่มีการลงนามกับกลุ่มอื่น ๆ อีกแล้ว เพราะการลงนามครั้งแรกกับบีอาร์เอ็น ถือเป็นการเปิดเจตนารมณ์แบบองค์รวมไปแล้วว่า รัฐบาลไทยพร้อมพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่าง” พล.ท.ภราดร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปการหารือจะจบที่การตั้งมหานครปัตตานี ในการสร้างความสงบในพื้นที่ใช่หรือไม่ พล.ท.ภราดร ยอมรับว่า ใช่ แนวโน้มจะต้องออกมาเป็นแบบนั้น

 

ภาพ-@news1005fm