posttoday

อากาศเปลี่ยนสธ.เตือนทุกวัยดูแลสุขภาพ

06 มีนาคม 2556

สธ.แนะประชาชนทุกวัยดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหหลังอากาศเปลี่ยนกะทันหันเน้นเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ

สธ.แนะประชาชนทุกวัยดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหหลังอากาศเปลี่ยนกะทันหันเน้นเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ

นายแพทย์เจษฎาโชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเตือนประชาชนหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ หลังสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากร้อนเป็นเย็นสลับไปมาภายในสัปดาห์เดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอ่อน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หากไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดี อาจทำให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจได้

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมต่อแสนประชากร กว่า 168,490 ราย เสียชีวิต 1,074 ราย โดยกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ อายุ 65 ปี 40,460 ราย รองลงมา อายุ 1 ปี 20,677 ราย และอายุ 2 ปี 9,473 ราย และช่วงอายุ 55-64 ปี 6,376 ราย สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนของประชากร สูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน 553.24 ฉะเชิงเทรา 542.17 ตาก 536.70 อ่างทอง 529.13 เชียงราย 485.97 หากแบ่งตามภาคพบว่าภาคเหนือ มีผู้ป่วยสูงที่สุด 332.56 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 281.12 ราย ภาคใต้ 248.73 ราย และภาคกลาง 219.12 ราย
         
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า กลุ่มเด็กอ่อนควรได้กินนมแม่เป็นประจำ เนื่องจากนมแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เป็นอาหารเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่เหมาะสมสำหรับทารกแรกเกิด-6 เดือน หลังจากนั้นสามารถให้นมแม่ ควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุครบ 2 ปี ส่วนเด็กเล็กพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ต้องเน้นอาหารที่ประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อสร้างพลังงานและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย สำหรับผู้สูงอายุควรมีการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวออกแรง อาทิ เดินเร็วๆ รำมวยจีน ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และควรมีผักสดหรือผักลวก รวมทั้งผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง ในทุกมื้ออาหารก็จะช่วยป้องกันไข้หวัดและส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย
         
"ทั้งนี้ เนื่องจากอากาศแปรปรวนที่ร้อนบ้าง หนาวบ้าง การปรุงประกอบอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรปรุงให้สุกร้อนก่อนบริโภค เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียง่าย ซึ่งการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ก่อนนำมารับประทานควรมีการอุ่นร้อนเสียก่อน ส่วนน้ำดื่มก็ต้องให้ความใส่ใจเช่นเดียวกัน ต้องเลือกที่สะอาด บรรจุผลิตภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด หรือต้มสุกก่อนดื่ม

ที่สำคัญควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ทุกครั้งก่อนและหลังที่ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ก่อนปรุงประกอบอาหาร ก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำหรือห้องส้วม เป็นต้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิอากาศไม่ให้ร้อนอบอ้าว และควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอที่สำคัญควรยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยลดพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันโรคต่างๆ ได้ อันจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว