posttoday

หลักสูตรชุมชนศึกษาโรงเรียนชาวนา

06 มีนาคม 2556

เปิดหลักสูตรชุมชนศึกษาโรงเรียนชาวนา ตำราของเด็กด้อยโอกาส

เปิดหลักสูตรชุมชนศึกษาโรงเรียนชาวนา ตำราของเด็กด้อยโอกาส

ไม่ได้ยึดเอาตำราเป็นใหญ่เพราะเป้าหมายของโรงเรียนบ้านโสกยาง ต.หนองแสง จ.มหาสารคามไม่จบแค่รูปถ่ายปริญญา แต่องค์ความรู้ควรคู่กับประสบการณ์จริง และถ้าให้ดีกว่านั้นต้องไม่ลืมเติมสำนึกรักบ้านเกิดไปด้วย

แทนที่จะท่องสูตรคูณอยู่ในห้องแคบอย่างเดียว บ่ายวันพฤหัสบดีโรงเรียนบ้านโสกยางจึงไฟเขียวให้นักเรียนที่นี่ย้ายชั้นเรียนสู่“โรงเรียนชาวนา” กิจกรรมเสริมประสบการณ์นอกหลักสูตร ซึ่งจะพาเด็กไปค้นหาชุมชนที่พวกเขาอาศัยแต่ไม่มีโอกาสได้รู้จักมันดีพอ ไล่ตั้งแต่เรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ การทำผ้ามัดย้อมพื้นถิ่น หรือจะร่วมกิจกรรมนันทนาการที่สร้างความสามัคคีในชุมชน

“พิชิต มะหัด” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโสกยาง บอกว่า เหตุจากจำกัดด้านงบประมาณทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 43 คน ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่มีในชุมชนเพิ่มเติมส่วนที่ขาด ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ช่วยในเรื่องทุนการศึกษากิจกรรมในโรงเรียนตามโอกาส หรือกับเครือข่ายนักพัฒนาในพื้นที่ซึ่งมีทักษะการอบรมทั้งนี้เพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ส่งผลช่วยให้เด็กนักเรียนไม่ต้องย้ายถิ่นไปศึกษาที่อื่นอันเป็นการแบ่งเบาภาระจากผู้ปกครองซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ไม่มากอยู่แล้ว

 “กิจกรรมที่ทำร่วมกับโรงเรียนชุมชนชาวนาบ้านปลาบู่ สมาคมไทบ้าน เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อน้องผู้ด้อยโอกาสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มันเป็นเรื่องดีให้เด็กเหล่านี้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่อาจหลงลืมไปตามกาลเวลา เช่น ทำการเกษตร วงมโหรี การย้อมผ้า ดนตรีไทย ช่างไม้หรืออบรมทักษะชีวิต

“แรกๆเราเสนอให้เป็นกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียนหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะมองถึงการหากิจกรรมให้เด็กมีส่วนร่วมในระหว่างที่ผู้ปกครองเขาต้องออกไปทำงาน แต่เมื่อทุกฝ่ายตอบรับดีและเห็นว่าช่วยพัฒนาศักยภาพได้อีกทางหนึ่งเราจึงใช้เวลาวันพฤหัสบดีเป็นวันทำกิจกรรม” ครูพิชิต บอกและว่า ทักษะที่ได้เรียนเพิ่มเติมยังพัฒนาให้เด็กได้ค้นพบความชอบของตัวเอง อาทิ วงมโหรีของโรงเรียนที่ได้รับการฝึกฝนจนจากกิจกรรมนี้ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษามหาสารคามเขต 2 ไปแสดงที่งานกาชาดประจำจังหวัดด้วย

“โรงเรียนชุมชนชาวนา” เริ่มต้นทำกิจกรรมที่ลานวัดบ้านปลาบู่ เมื่อ พ.ศ. 2549 โดยโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนวิชาทำไร่ไถนาตามชื่อ แต่ชื่อที่ว่าเรียกตามสถานที่อบรม และจุดประสงค์ของการเปิดขึ้นมาสำหรับชาวนาและลูกหลานชาวนาที่มีฐานะยากจน ไร้โอกาสเมื่อเทียบเท่ากับเด็กในเมืองให้มีทักษะชีวิต พร้อมปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิดในคราวเดียวกัน

“ธีรดา นามให” ผู้จัดการโครงการฯ เจ้าของแนวคิดโรงเรียนชุมชนชาวนา มองว่า จุดเด่นของการทำงานร่วมกับโรงเรียนเพราะโรงเรียนเป็นกลไกการประสานงานที่ดี กล่าวคือโรงเรียนให้ความรู้และการทำกิจกรรมจะเสริมทักษะนอกเหนือจากห้องเรียน โดยโรงเรียนชุมชนชาวนาจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาครูชุมชนซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา-ปราชญ์ชาวบ้าน ให้รวบรวมความรู้ทั้งหมดไปสอนเด็ก ทำให้คนรุ่นหลังๆเหล่านี้ได้ความรู้ ขณะที่ชาวบ้านเองมีความภาคภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ เกิดความรู้สึกหวงแหนและให้คุณค่ากับความรู้เก่าๆที่มี

“อย่างกิจกรรมเรียนทำผ้ามัดย้อมได้รับความสนใจทั้งจากผู้ใหญ่และเด็ก เรียนรู้ทั้งการออกแบบลาย ผลิตเป็นกระเป๋า เป้ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตผ้ามัดย้อม ภายใต้ชื่อกลุ่มปลาบู่มัดย้อม เป็นช่องทางหารายได้เสริมก่อนจะถึงฤดูลงนาและเกี่ยวข้าว”

“สิ่งที่ได้มากกว่าเรื่องการสอนทักษะยังเป็นเรื่องกิริยามารยาท อย่างแต่ก่อนเด็กเจอผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักเขาก็ไม่สนใจ ไม่ได้ทักทายอะไร แต่พอเป็นเครือข่าย เห็นคนที่เคยสอนในโรงเรียนชุมชนมันทำให้เกิดการผูกพันมีการเคารพ ไหว้ ทักทายกัน เขาจะดีใจมากที่เห็นครู” เจ้าของแนวคิดโรงเรียนของชุมชนอธิบายเพิ่มเติม

ส่วนความรู้สึกจากผู้เรียนอย่าง “ด.ญ.วรรณิษา เลิศสีดา” นักเรียนโรงเรียนโสกยาง บอกว่า เธอชอบวิชาการทำผ้ามัดย้อม ทำอาหารพื้นบ้าน และฟ้อนรำนาฏศิลป์ โดยเป้าหมายของเธออยู่ที่การฝึกทักษะในการทำผ้าให้ชำนาญขึ้น ผลิตเป็นสินค้าโอทอปเพื่อจะนำเงินที่ได้จากการขายมาพัฒนาชุมชนให้ดีกว่านี้

ขณะที่ “ด.ช.ศรชัย ครองสิงห์” บอกเช่นกันว่า ชอบเรียนดนตรีไทยและหวังจะออกงานให้บ่อยขึ้น เพราะการออกงานนี้ทำให้เขาได้ไปเที่ยว ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดจนทำให้ได้ค้นพบความชอบของตัวเอง

ทั้งนี้คล้ายกับ “ด.ช.ธีรวัจน์ จิตต์ฐานันท์” ที่ชื่นชอบวิชาดนตรีมโหรีและการทำอาหาร โดยเขาบอกว่า ความสนุกในกิจกรรมคือการได้เล่นดนตรีประเภทฉิ่งและซอ ซึ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของความฝันในการนักดนตรีไทย เพื่อออกแสดงนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวร่วมกับยายและป้าที่เลี้ยงดูมา

แบ่งเบาภาระของแม่ที่ทำงานอยู่กรุงเทพ ซึ่งต้องทำงานหนักภายหลังพ่อของเขาเสียชีวิตลง