posttoday

สธ.จ่อตั้งกก.พัฒนาสุขภาพชาติ

04 มีนาคม 2556

สธ.เตรียมตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ดูภาพรวมสาธารณสุขทั้งระบบ

สธ.เตรียมตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ดูภาพรวมสาธารณสุขทั้งระบบ

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข  นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ประชุมระดมความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรับกระบวนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ประดิษฐ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งปรับกระบวนการทำงาน เพื่อรองรับระบบบริหารและระบบบริการ ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น

ขณะนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 15% ของงบประมาณทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี เสี่ยงที่จะเกิดการล่มสลายของระบบการเงินการคลังด้านค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีองค์กรระดับประเทศในการจัดการด้านสุขภาพ  ทำให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากบทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจนทำให้มีการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง

ทั้งนี้จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ และเตรียมเสนอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การสาธารณสุขของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

โครงสร้างของ คสช. จะประกอบด้วย รมว.สาธารณสุข รมว.มหาดไทย รมว.การคลัง รมว.แรงงาน รมว.ศึกษาธิการ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ และจะมีคณะอนุกรรมการเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องสำคัญ เช่น การกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติ ระบบรักษาพยาบาล การใช้ยา ระบบการเงินการคลัง ระบบตรวจสอบ และการรับฟังความคิดเห็นประชาชน 

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางการพัฒนากระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ จะครอบคลุม 4 ระบบ คือ ระบบบริการ ระบบส่งเสริมสุขภาพ ระบบควบคุมป้องกันโรค  ระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(Health Consumer Protection) โดยทุกด้านต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพ  โดยมีคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบใน 11 ประเด็น ดังนี้ 1.การกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์กลางของประเทศบนข้อมูลและฐานความรู้ 2.การสร้างและจัดการความรู้ด้านสุขภาพ   3.การประเมินนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ   4.การกำหนดและรับรองมาตรฐานบริการต่าง 

5.การพัฒนาระบบกลไกการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ 6.การพัฒนากลไกด้านกฎหมาย 7.การพัฒนางานสุขภาพโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศ 8.การกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน 9.การให้ข้อคิดเห็นต่อระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ 10.การพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้เป็นระบบเดียว มีคุณภาพใช้งานได้ และ 11.การกำหนดนโยบายและจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ