posttoday

จี้ผลักดันกม.ห้ามขายเหล้าบนทางสาธารณะ

12 กุมภาพันธ์ 2556

ภาคประชาชน พบรองนายกฯ จี้ผลักดันกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ เชื่อนโยบายนี้ช่วยตอบโจทย์สังคม ลดผลกระทบเจ็บ-ตาย

ภาคประชาชน พบรองนายกฯ จี้ผลักดันกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ เชื่อนโยบายนี้ช่วยตอบโจทย์สังคม ลดผลกระทบเจ็บ-ตาย        

นายปริญญา   มอญเก่า ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนงดเหล้าภาคตะวันตก  พร้อมด้วย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ประชาคมงดเหล้ารวม8 จังหวัด เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายปลอดประสพ สุรัสวดี  รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้สนับสนุนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ

นายปริญญา กล่าวว่า ด้วยเครือข่ายเยาวชน และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก 8 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย  ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งนี้จากการที่เครือข่ายเยาวชนฯ ได้ลงสำรวจเก็บข้อมูล 8จังหวัดในภาคตะวันตก ทุกจังหวัด พบการทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ว่าด้วยการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ในมาตรา32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ จูงใจ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม อาทิ ป้ายโฆษณา ป้ายไฟ และป้ายแสดงโปรโมชั่นต่างๆ

นายปริญญา   กล่าวว่า  ในวันที่ 14 ก.พ.นี้จะเป็นวันครบรอบการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทางเครือข่ายเยาวชนฯ จึงขอยื่นข้อเสนอและเรียกร้องเพื่อเข้ามาหนุนเสริมและควบคุมปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ 1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบังคับใช้กฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี (มาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551) และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด(ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253) 2.เร่งทำความเข้าใจและบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาฯ3.เร่งประชาสัมพันธ์มาตรการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนและในรถขณะวิ่งบนทางสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบและปกป้องเด็กและเยาวชน

4.ขอให้มีมาตรการควบคุมเหล้าปั่นและจัดระเบียบ (โซนนิ่ง) ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาอย่างจริงจัง และ5.เร่งรัดการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ

“เครือข่ายเยาวชนฯ เชื่อว่าหากเกิดการผลักดันในมาตรการดังกล่าว จะทำให้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เราขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อลดผลกระทบป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่” นายปริญญา  กล่าว