posttoday

ชวนสังเกตดาวหางโคจรใกล้ดวงอาทิตย์

12 กุมภาพันธ์ 2556

นักดาราศาสตร์ชวนสังเกตดาวหาง 2 ดวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ เผยพื้นที่มองเห็นได้ต้องอยู่ที่สูงและท้องฟ้าโปร่ง

นักดาราศาสตร์ชวนสังเกตดาวหาง 2 ดวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ เผยพื้นที่มองเห็นได้ต้องอยู่ที่สูงและท้องฟ้าโปร่ง

นายวรวิทย์   ตันวุฒิบัณฑิต  ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ หอดูดาวบัณฑิต อ.แปลงยาวจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. ถึงวันที่ 15 มี.ค.นี้ จะมีดาวหางสองดวงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและพอที่จะสังเกตได้ในประเทศไทย แต่จะสังเกตยาก โดยต้องเป็นพื้นที่สูง และฟ้าที่ขอบฟ้าต้องใสมากๆจึงจะเห็นได้ ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯและในเมืองใหญ่คงเห็นได้ยาก

ทั้งนี้ ดาวหางดวงแรกคือC/2011  L4  PANSTARRS ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2554 โดยดาวหางดังกล่าวมีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 110,000 ปี และจะโคจรใกล้โลกที่สุดในวันที่5 มี.ค.นี้ ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด วันที่ 10 มี.ค.

การสังเกตดาวหางดวงนี้ประเทศไทย เริ่มสังเกตได้ ตั้งแต่วันที่ 5  มี.ค. เป็นต้นไปถึง15 มี.ค.สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา บน ท้องฟ้าช่วงหัวค่ำขณะที่ดวงอาทิตย์เรี่มตกดิน โดยวันที่ 5 มี.ค. ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 17 องศาและสูงจากขอบฟ้า 13 องศาในวันที่ 9 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างเยื้องดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 5 องศาและสูงจาก ขอบฟ้า 13 องศา ในวันที่ 15 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศเหนือ 13 องศาและสูงจากขอบฟ้า 13 องศา

ดาวหางดวงที่สองC/2012  F6  Lemmon ค้นพบเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2555 มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 11,180 ปี ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด วันที่ 24 มี.ค.นี้  ประเทศไทย เริ่มสังเกตได้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. เป็นต้นไปถึง15 มี.ค. สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา บน ท้องฟ้าช่วงหัวค่ำขณะที่ดวงอาทิตย์เรี่มตกดิน       

ทั้งนี้วันที่ 5 มี.ค. ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 53 องศาและสูงจากขอบฟ้า 15 องศาในวันที่ 9 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างเยื้องดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 52 องศาและสูงจากขอบฟ้า 9 องศา ในวันที่ 15 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศใต้ 45 องศาและสูงจากขอบฟ้า 5 องศา

“การสังเกตดาวหางต้องหาที่โล่งและควรเป็นที่สูงด้วย และขอบฟ้าวันที่สังเกตต้องใสไม่มีเมฆหรือหมอกควันมาบดบัง จึงจะสามารถมองเห็นดาวหางได้” นายวรวิทย์กล่าว