posttoday

โพเทนเชียลฯรุกค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนรับเออีซี

12 กุมภาพันธ์ 2556

โพเทนเชียลฯ เดินหน้ารุกค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนรับประชาคมอาเซียน พร้อมเตรียมต่อยอดหาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานคลื่นและพลังงานขยะผลิตเป็นไฟฟ้า

โพเทนเชียลฯ  เดินหน้ารุกค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนรับประชาคมอาเซียน   พร้อมเตรียมต่อยอดหาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์   พลังงานคลื่นและพลังงานขยะผลิตเป็นไฟฟ้า    

นายเกียรติภูมิ  สิริพันธุ์    กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพเทนเชียล เอ็นเนอร์ยีจำกัด (Potential Energy Co., Ltd.)   กล่าวว่า     เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  เตรียมที่จะศึกษาวิจัยหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเทศไทย  อาทิ ลาว กัมพูชา บรูไน เวียดนาม สิงค์โปร    โดยจะศึกษาวิจัยในลักษณะบูรณาการร่วมกับภูมิประเทศอื่นๆ โดยให้ประเทศไทยเป็นหลักทางด้านเงินทุนและKnow How เทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการ

รวมทั้งเตรียมต่อยอดหาแหล่งพลังงานในประเทศไทยที่มีศักยภาพ     เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตไฟฟ้า   อาทิ    พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานคลื่น เพราะเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ฟรีไม่ต้องลงทุน โดยนำเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นต้นแบบการศึกษาวิจัย เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อเชื้อเพลิงในราคาแพง

“พลังงานขยะเป็นอีกหนึ่งวิจัยที่ได้ดำเนินการอยู่โดยไประสานงานกับทางเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ทั่วประเทศ       ในการกำจัดขยะเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะได้ประโยชน์  2 ทาง คือ สามารถกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยได้พลังงาน และได้โปรดักส์มาทดแทน”   นายเกียรติภูมิ     กล่าว

นายเกียรติภูมิ   กล่าวด้วยว่า  เมื่อเร็วๆนี้บริษัทฯยังได้อนุมัติเงินสนับสนุนโครงการพลังงานลม (Wind    Energy) ขนาด 4.8MW นำร่องพื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ในสัดส่วน 65% หรือประมาณ 117 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 35% จะเป็นผู้พัฒนาโครงการจากประเทศเยอรมนี และเจ้าของรีสอร์ทในเกาะเต่าร่วมลงทุน 63 ล้านบาท รวม 180 ล้านบาท    รวมทั้งได้เงินสนับสนุนจากธนาคารอีก 420 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 600 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ 14-15 ล้านหน่วยต่อปี  คิดเป็นรายได้ปีละประมาณ 115ล้านบาท หักค่าบำรุงรักษาและเดินเครื่องปีละ 5 ล้านบาท จะมีกำไรจากการดำเนินงานประมาณปีละ 110 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถคืนทุนได้ประมาณ 6 ปี โดยโครงการนี้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซล ถึงหน่วยละ 10-12บาท

 ปัจจุบัน  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสูงถึงหน่วยละ 18-20บาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ราคาหน่วยละ 8 บาท ลดต้นทุนได้หน่วยละ 10-12บาท เมื่อโครงการผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 14-15หน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดให้กับประเทศชาติได้ถึงปีละ 150-200 บาท

จากผลงานดังกล่าว คณะกรรมการโครงการ Smart    Green    Hero 55 ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ได้คัดเลือกให้ตนเข้ารับรางวัล Smart Green Hero 55 ด้าน Wind Energy เพราะเห็นว่า เป็นผู้ที่เผยแพร่ และปฏิบัติจริงในการนำพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์