posttoday

สธ.ผลิตวัคซีนป้องกัน4โรคในเข็มเดียว

08 กุมภาพันธ์ 2556

ไทยจับมือฝรั่งเศส ผลิตวัคซีนป้องกัน 4 โรครวมอยู่ในเข็มเดียว คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี ครั้งแรกในประเทศ

ไทยจับมือฝรั่งเศส ผลิตวัคซีนป้องกัน 4 โรครวมอยู่ในเข็มเดียว คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี ครั้งแรกในประเทศ

นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย โดยองค์การเภสัชกรรม บริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัทซาโนฟีปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ในโครงการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนในประเทศ ไม่ต้องนำเข้าวัคซีนทั้งหมดจากต่างประเทศ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพแก่คนไทยทุกคน และจัดหาวัคซีนใช้ป้องกันโรคอย่างเพียงพอ

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคในเด็กแรกเกิดขององค์การเภสัชกรรมให้มีรูปแบบทันสมัย เพื่อให้ใช้ง่าย สะดวก เพิ่มความครอบคลุมการได้รับภูมิคุ้มกันโรคเด็กไทย โดยจะพัฒนาและผลิตวัคซีน 4 ชนิดได้แก่ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และวัคซีนตับอักเสบบี รวมอยู่ในเข็มเดียวกัน(DTP-HB) ในประเทศไทยครั้งแรก เพื่อฉีดให้แก่เด็กแรกเกิดของไทยทุกคน ซึ่งมีปีละประมาณ 8 แสนคน

ทั้งนี้ บริษัทซาโนฟีปาสเตอร์ เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนหลายชนิดที่มีคุณภาพระดับสากล จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้การผลิตวัคซีนดังกล่าวให้กับองค์การเภสัชกรรมไทย และบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จนสามารถผลิตวัคซีนรวมจนสำเร็จ และจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนตับอักเสบบีให้แก่องค์การเภสัชกรรมด้วย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ใช้เวลา 8 -10 ปี ใช้งบประมาณลงทุน 700 ล้านบาท

ด้านนพ.พิพัฒน์  ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว  กระทรวงสาธารณสุขจะซื้อวัคซีนจากบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม 6 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีนตับอักเสบบี 2.วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 3.วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน 4.วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 5.วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-ตับอักเสบบี 6. วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ในราคาที่ถูกลงเป็นกรณีพิเศษ และนำกำไรจากการจำหน่ายดังกล่าวมาลงทุนในโครงการฯ มั่นใจว่าในระยะ 8-10 ปีนี้ จะประหยัดงบประมาณในการจัดหาวัคซีนได้เกือบ 2,000 ล้านบาท