posttoday

ร้องสอบเส้นทางการเงินมูลนิธิเซ็นคาเบรียล

01 กุมภาพันธ์ 2556

เครือข่ายพ่อแม่เยาวชน –ภตช.ร้องดีเอสไอและปปง.สอบเงินบริจาคมูลนิธิเซ็นคาเบรียล บุคคลใกล้ชิดผู้บริหาร หลังพบพฤติกรรมส่อในทางทุจริต

เครือข่ายพ่อแม่เยาวชน –ภตช.ร้องดีเอสไอและปปง.สอบเงินบริจาคมูลนิธิเซ็นคาเบรียล บุคคลใกล้ชิดผู้บริหาร หลังพบพฤติกรรมส่อในทางทุจริต

นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายพ่อแม่-เยาวชนเพื่อปฎิรูปการศึกษาได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เพื่อขอให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียล โดยมีนายศิริชัย ฟอนสิการ์ เป็นประธานมูลนิธิ พร้อมด้วยผู้บริหารและนักบวชนิกายคาทอลิกอีก 56 คน เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อให้ชี้แจงที่มาของเงินบริจาคของมูลนิธิฯมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทว่า ได้มาโดยสุจริตหรือไม่และมีที่มาอย่างไร เนื่องจากเห็นว่าโรงเรียนอัสสัมชัน 14 แห่งและโรงเรียนในเครือประกอบด้วย โรงเรียนเซ็นคาเบรียล 11 แห่ง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย(จังหวัดเชียงใหม่)  เก็บค่าเล่าเรียนสูงเกินจริงซึ่งขัดต่อหลักการของมูลนิธิและหลักของศาสนา โดยโรงเรียนอัสสัมชันในระดับประถมศึกษามีค่าแรกเข้าเรียนชั้น ป. 1 จำนวน 750,000 บาทต่อคน ส่วนในระดับชั้นมัธยมต้องจ่ายค่าแรกเข้าเป็นเงินจำนวน 3.5 แสนบาท ซึ่งรายได้จากการเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี้ยะเป็นเงินจำนวนมาก โดยไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ

“ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิที่บริหารงานโดยนักบวชเป็นผู้กำหนดการใช้จ่ายเงินและนโยบายที่สั่งการให้ใช้ทุนทรัพย์กว่า 10,000 ล้านบาทก่อสร้างมหาวิทยาลัยทั้งที่อัสสัมชันบางนา ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,000 ล้านบาทรวมถึงการก่อสร้างโรงเรียนอัสสัมชันที่ใหม่ที่ถนนพระราม 2 เป็นเงินกว่า 2,500 ล้านบาทซึ่งมีเงินบริจาคจำนวนมากแต่กลับขาดการควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่านักบวชบางรายที่รับผิดชอบดูแลเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชันหลายแห่งมีฐานะร่ำรวยผิดปกติ ทั้งที่นักบวชไม่สามารถสะสมเงินได้ แต่กลับมีการนำเงินไปซื้อบ้าน ที่ดิน และรถยนต์ บางแห่งมีการปรับปรุงโรงเรียนเป็นสนามกอล์ฟให้นักบวชใช้ตีกอล์ฟซึ่งขัดต่อหลักศาสนา”นายวิวัฒน์ชัยกล่าว

นายวิวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของมูลนิธืและการใช้จ่ายของนักบวชทั้งหมด เนื่องจากดีเอสไอได้ทำเอ็มโอยูทั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย ป.ป.ง.กรมสรรพากรฯลฯในเรื่องฟอกเงินด้วยเนื่องจากการจดทะเบียนในรูปมูลนิธิดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีการยักย้ายถ่ายเทเงินจากมูลนิธิไปใช้ในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือมีการผ่องถ่ายเงินไปใช้ในกิจการที่ส่อไปในการบริหารที่ไม่ชอบธรรม และส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาดีเอสไอน่าจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้

ขณะที่นางศิวาพรกล่าวว่า ตนจะนำข้อมูลที่ได้รับไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนดีเอสไอหรือไม่ และสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ และหากไม่อยู่ในอำนาจก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป

ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช.) เปิดเผยว่า ตนเข้ายื่นหนังสือต่อพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยขอให้ปปง.เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้บริหารเครืออัสสัมชัน 3 คนที่พบว่ามีปัญหาในเรื่องการบริหารการเงิน ซึ่งตนได้นำหลักฐานซึ่งมีทั้งเลขบัญชีของผู้บริหารบางคนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาท่าเตียนและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทที่เข้าไปรับงานก่อสร้างโรงเรียนอัสสัมชันเข้าไปรับงานก่อสร้างที่เอเบค โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจบางคนในมูลนิธิเซ็นคาเบรียลแห่งประเทศไทย

ด้านพ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือจากภตช.แล้วได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบว่าคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดก็ชอบของหน่วยงานใดบ้าง เพราะผู้ร้องไปร้องหลายที่จึงจำเป็นต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นก่อนว่า อำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลมีหน่วยงานใดได้ดำเนินการไปแล้วบ้าง

นายธาริต  กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า คดีดังกล่าวอาจไม่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนตามที่เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนฯร้องขอให้ตรวจสอบ แต่อาจจะเข้าข่ายคดียักยอกทรัพย์ของมูลนิธิฯ ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะมอบให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 หรือสำนักคดีการเงินการธนาคารรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น

ทั้งนี้ตามกฎหมายใหม่ของพ.ร.บ.คดีพิเศษหากพบว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงจะสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ทันที

ภาพ-@Reporter_Js1