posttoday

สธ.ปรับค่ารักษา8หมวดผ่าปอด-หัวใจเพิ่มสูงสุด

28 มกราคม 2556

สธ.ปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล 8 หมวด ผ่าตัดปอดหัวใจเพิ่มสูงสุดเกือบ 2 หมื่น เตรียมประกาศใช้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

สธ.ปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล 8 หมวด ผ่าตัดปอดหัวใจเพิ่มสูงสุดเกือบ 2 หมื่น เตรียมประกาศใช้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัด สธ.ว่า สธ.จะปรับปรุงค่าบริการใหม่ในปี2556 เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ หลังจากที่ใช้อัตราเดิมมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งใช้มานานประมาณ 8-9 ปี

ทั้งนี้อัตราค่าบริการที่จะมีการปรับปรุงมีทั้งสิ้น 8 หมวดโดยพบว่ามีรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิมที่มี 1,955 รายการ รวมมีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ

หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่ม 53 % เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่  รองลงมาคือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23% รายการที่เพิ่มต่ำสุดคือค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%

"การปรับอัตราดังกล่าวจะพิจารณาตัวเลขที่เหมาะสมแล้วเสร็จ และผ่านการพิจารณาร่วมกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะประกาศใช้ได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้"นพ.ประดิษฐกล่าว

ทั้งนี้การปรับค่าบริการทางการแพทย์ของสธ. จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะส่วนใหญ่กว่า 99% มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพ ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่แล้ว ดังนั้นจะเป็นการคิดค่ารักษา เรียกเก็บเงินกันภายในระหว่างสถานพยาบาลและกองทุนทั้ง 3 เท่านั้น ไม่กระทบคุณภาพบริการ การจ่ายยา และการรักษา โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กองทุนข้างต้น เช่น ชาวต่างชาติที่เข้ามา หรือประชาชนไทยในระบบประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาตามขั้นตอน โดยไม่ได้เข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ก่อน ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอน ก็จะต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง

จากข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประชาชนอยู่ในระบบ 48 ล้านคน ป่วยและไปใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ 32 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 31 ล้านคน ใช้บริการประมาณ 4 ครั้งต่อปี และมีประมาณ 8- 9 แสนคนที่ใช้บริการมากกว่าปีละ 12 ครั้ง ส่วนที่เหลืออีก 16 ล้านคนไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งอาจมาจากมีสุขภาพดี หรือรักษาที่คลินิค รพ.เอกชน หรือซื้อยากินเอง เนื่องจากไม่พอใจ หรือไม่สะดวกในการใช้บริการ หรืออาจเข้าไม่ถึงการบริการในสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะในคนกทม. 72% มักไปซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่สะดวกที่จะไปรับบริการในเวลาทำงาน รัฐบาลกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือคนในกทม.ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าบริการใหม่ครั้งนี้ได้

นอกจากนี้ อัตราค่าบริการที่ปรับใหม่จะนำไปใช้อ้างอิงในการรักษาพยาบาลคนต่างชาติ เช่นกลุ่มที่ข้ามพรมแดนมารับการรักษา และกลุ่มที่เดินทางมารับการรักษาในเมืองไทย ซึ่งกำลังจะให้มีการทำประกันสุขภาพการเดินทาง หรือทราเวล อินชัวรันซ์ ขึ้น โดยอัตรานี้จะสามารถคิดค่าใช้จ่ายกับบริษัทประกันได้ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในสัปดาห์นี้ และประกาศใช้เป็นเกณฑ์การปฏิบัติประมาณเดือนมี.ค.

ด้านนพ.โสภณ  เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า  คณะอนุกรรมการดำเนินงานปรับค่าบริการมี 8 คณะ ได้แก่ 1.ค่ายาและบริการเภสัชกรรม มีรายการเพิ่มใหม่ 7 รายการ 2.ค่าตรวจพยาธิวิทยา เพิ่มใหม่ 309 รายการ 3.ค่าตรวจรักษาทางรังสีวิทยาและค่าบริการตรวจรักษาทั่วไป เพิ่มใหม่ 35 รายการ 4.ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มใหม่ 27 รายการ 5.ค่าบริการทันตกรรม เพิ่มใหม่ 10 รายการ 6.ค่าผ่าตัด ค่าวางยาสลบและยาชา เพิ่มใหม่ 19 รายการ 7.ค่าบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพิ่มใหม่ 15 รายการ 8.ค่าบริการเวชกรรมฟื้นฟู เพิ่ม 337 รายการ รวมเพิ่มขึ้นใหม่ 758 รายการ ในภาพรวมการกำหนดค่าบริการใหม่ ส่วนใหญ่เพิ่มจากค่าแรง ซึ่งเป็นเงินเดือนประจำของเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า

สำหรับอัตราค่าบริการใหม่นี้ ใช้หลักเกณฑ์การคิดเช่นเดียวกับปี 2547 คือคิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ต้นทุนค่าแรง เช่น เงินเดือน เป็นต้น 2.ต้นทุนค่ายาและวัสดุ 3.ต้นทุนค่าครุภัณฑ์และอื่นๆ โดยจะจัดทำเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดยรมว.สาธารณสุข โดยใช้ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เป็นเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน รวมทั้งผู้ที่ใช้ระบบการประกันชีวิตกับบริษัทเอกชนต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลแต่ละแห่งจะมีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล พิจารณาอัตราค่าบริการดังกล่าวอาจมีการปรับลดลงตามความเหมาะสมของพื้นที่

ทั้งนี้ ค่าบริการผ่าตัดที่มีราคาสูงสุด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนปอดและหัวใจ เดิม 4.5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 6.4 หมื่นบาท การตรวจรักษาโรคโดยวิธีการพิเศษที่มีราคาสูงสุด เช่นค่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร กำหนดราคาใหม่ 8 หมื่นบาท หากใส่ชั่วคราวค่าบริการ 1.3 หมื่นบาท ค่าตรวจทางเทคนิคการแพทย์ เช่นค่าตรวจหาสารพันธุกรรมของมนุษย์ กำหนดราคา 1.8 หมื่นบาท รายการบริการรังสีวินิจฉัยราคาสูงสุดเช่น เครื่องตรวจการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง ราคาใหม่ 25,000 บาท รายการค่าเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีราคาสูงสุดเช่น การรักษามะเร็งตับด้วยรังสี ราคาใหม่ครั้งละ 2.74 แสนบาท ค่าบริการรังสีรักษาราคา1.12 - 1.75 แสนบาท