posttoday

ตร.เตือนชีวิตจริงไม่ใช่หนังแย่งปืนคนร้าย...ไม่ควรทำ

23 มกราคม 2556

นับเป็นเรื่องราวน่าสลด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายปรเมศวร์ สิงห์โพธิ์

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

นับเป็นเรื่องราวน่าสลด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายปรเมศวร์ สิงห์โพธิ์ หรือพี นักแสดงหนุ่มสังกัดช่อง 3 ในวัย 33 ปี ยิงนายนพปฎล อธิบาย อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผับมิ้วส์ (MUSE) ทองหล่อซอย 10 ขณะเข้าไปห้ามปรามนายพีที่กำลังทะเลาะกับแฟนสาวบริเวณลานจอดรถร้านอาหารฟู้ดแลนด์ในอาคารเอท ทองหล่อ แต่นายพี ชักปืนออกมาขู่เพื่อนที่จะเข้าห้ามปราม จนมีการยื้อยุดฉุดกระชากแย่งอาวุธปืนกัน และสุดท้ายเสียงปืนก็ดังขึ้นหนึ่งนัด กระสุนเจาะเข้าศีรษะของนายนพปฎล ฝังในอาการสาหัสเป็นตายเท่ากัน ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

และคดีก็ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนถึงที่มาที่ไปของสาเหตุดังกล่าว จะด้วยเหตุผลที่ปืนลั่นออกไปเองจากการเข้าแย่งอาวุธปืนกัน หรือจะเป็นการจงใจยิง ก็อยู่ที่การสืบสวนของตำรวจในการทำรูปคดีออกมาเพื่อให้กระจ่างต่อสังคม

ที่น่าสนใจคือ หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนชักปืนจ่อปากกระบอกมาทางตัวเรา ควรจะทำอย่างไร สังเกตแบบไหนว่าคนนั้นจะยิงแน่ หรือเพียงเพื่อขู่เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมถึงการที่คนร้ายมีตัวประกันอีกด้วย ภายหลังจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์เข้าไปห้ามปรามคนที่มีอาวุธ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นอุบัติเหตุที่น่าสลด

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงในที่สุด เรื่องนี้ พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) มีคำแนะนำว่า หากเกิดเรื่องเช่นนี้ คนที่อยู่ในเหตุการณ์หรือคนที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมสติให้ได้มากที่สุด สังเกตพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ และรีบแจ้งตำรวจโดยเร็วที่สุด

“ให้คิดก่อนว่าด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้คนร้ายต้องพกอาวุธออกมาข่มขู่ต่างๆ นั้น ย่อมหมายถึงว่าคนร้ายพร้อมที่จะใช้อาวุธเช่นกัน ต้องประเมินสถานการณ์ว่าหากรุนแรงเกินไป การแจ้งตำรวจให้เร็วที่สุดถือเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าพยายามเข้าไปต่อสู้หรือแย่งอาวุธเด็ดขาด เพราะหากพลาดขึ้นมาสถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก”

รองมานิต แนะนำอีกว่า ในระหว่างที่แจ้งตำรวจไปแล้ว ให้พยายามพูดโน้มน้าวผู้ที่ก่อเหตุ อย่าให้ทำอะไรรุนแรง แนะนำให้ตัดสินปัญหาด้วยเหตุผล อย่าให้ความรุนแรงเข้าครอบงำเด็ดขาด พยายามพูดคุยให้เห็นถึงผลเสียที่จะตามมาหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

เมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุแล้ว ให้รีบแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้ครบถ้วนที่สุด ทั้งเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาวุธที่คนร้ายมีอยู่ เพื่อให้ตำรวจประเมินสถานการณ์ในการเข้าระงับเหตุการณ์อย่างปลอดภัยที่สุด

“คือง่ายๆ เลย อย่าเข้าไปยุ่งเด็ดขาด เพราะคนทั่วไปอาจจะไม่มีประสบการณ์ หรือได้รับการอบรมและฝึกยุทธวิธีในการต่อสู้ หรือการเข้าชาร์จคนร้ายเหมือนเจ้าหน้าที่ ดังนั้นหากทำกันเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจจะเกิดเหตุร้ายที่ตามมาได้ หรือเป็นเหตุที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการแจ้งตำรวจจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเท่ากับว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองดีเช่นกัน ไม่ต่างจากการเข้าไปชาร์จคนร้ายเสียเอง และยังปลอดภัย การทำงานของตำรวจก็ง่ายยิ่งขึ้นด้วย” พล.ต.ต.มานิต ย้ำ

ขณะที่ตำรวจชุดปฏิบัติการของหน่วยอรินทราช สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) อธิบายการเข้าชาร์จชิงตัวประกันว่า หากเกิดเหตุและได้รับแจ้งจากประชาชน หรือตำรวจที่ประสานมาแล้ว และการเจรจาไม่เป็นผล สิ่งที่ตำรวจต้องทำคือช่วยเหลือตัวประกันให้ปลอดภัยอย่างเร็วที่สุด และแน่นอนว่า สภาพแวดล้อมโดยรอบก็ต้องปลอดภัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือทรัพย์สินที่อยู่ในบริเวณนั้น ก่อนปฏิบัติตำรวจก็ต้องเคลียร์พื้นที่โดยรอบ กันคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

นายตำรวจคนเดิม เล่าอีกว่า จากนั้นก็จะเป็นการวางกำลัง วางแผนตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พิจารณาพฤติกรรมของคนร้ายและอาวุธที่คนร้ายใช้อยู่ เมื่อแผนทุกอย่างพร้อม การประเมินความเสี่ยงเป็นศูนย์ ก็ต้องเร่งเข้าชาร์จทันที

“จะมีทีมชาร์จ และทีมที่เข้าไปช่วยเหยื่อให้ออกมา หากเป็นสถานการณ์หนึ่งต่อหนึ่ง หมายถึงคนร้ายหนึ่งคน ตัวประกันอีกหนึ่งคน และเมื่อเข้าชาร์จแล้วอาวุธที่คนร้ายมีอยู่ต้องบังคับให้หันไปทางที่ไม่มีคน เช่น หากเป็นปืนก็ต้องหันขึ้นไปบนอากาศ เป็นต้น นี่เป็นหลักการคร่าวๆ เท่านั้น แต่หากอยู่ในสถานการณ์จริงก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบออกไปได้” ตำรวจจากอรินทราช ย้ำ

งานที่ต้องระงับความอันตราย นาทีเป็นนาทีตาย ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างตำรวจ และหากใครพบเห็นเหตุการณ์ที่ส่อจะรุนแรง หรือเข้าไปเกี่ยวข้อง ทางที่ดีต้องรีบแจ้งตำรวจ และพยายามยื้อเวลารอเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด เพื่อให้ความปลอดภัยเกิดกับตัวเอง และคนที่อยู่ในเหตุการณ์