posttoday

พบเชื้อมาลาเรียแถบชายแดนยังดื้อยา

21 มกราคม 2556

สธ.เตรียมเปลี่ยนยาแก้มาลาเรีย หลังพบดื้อยาเพิ่ม เฝ้าเข้มแคมป์อพยพ-สวนยางพารา

สธ.เตรียมเปลี่ยนยาแก้มาลาเรีย หลังพบดื้อยาเพิ่ม เฝ้าเข้มแคมป์อพยพ-สวนยางพารา

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จุดที่พบเชื้อมาลาเรียดื้อยามากในประเทศไทย อยู่ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมถึงพื้นที่ชายแดนแถบจ.กาญจนบุรี จ.ระนอง และชายแดนติดกับจังหวัดไพลิน ของประเทศกัมพูชา โดยพบเชื้อ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ และ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารั่ม ซึ่งเป็นชนิดรุนแรง ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 ประเทศไทยพบผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมดกว่า 2.4 หมื่นราย ผู้เสียชีวิตจำนวน 11 ราย จังหวัดที่ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.แม่ฮ่องสอน จ.ระนอง และ จ.สงขลา

“ปัจจุบันมีการดื้อยาของเชื้อในเขตค่ายผู้อพยพแถบชายแดนไทย-พม่า จำนวนมาก ซึ่งในหลายพื้นที่เราเข้าถึงได้ไม่หมด และตามกฎหมายก็ยังไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุมได้ โดยพบว่าผู้อพยพในค่ายผู้อพยพสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเขตชายแดน จนไม่รู้ว่าตัวเลขจริงมีจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อให้ความรู้ และนำยาพ่นเข้าไปทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อเข้าไปควบคุมโรคมาลาเรียแล้ว นอกจากนี้ ยังอยากเตือนให้ ประชาชนที่มีสวนยางพารา ให้จับตาคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำหน้าที่รับจ้างกรีดยางให้ดี เพราะอาจนำเชื้อมาเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ พื้นที่สวนยางยังเป็นพื้นที่น้ำขัง ซึ่งง่ายต่อการเพาะพันธุ์ยุงก้นป่อง โดยทางที่ดี ควรนำไปตรวจเลือดก่อนว่าพบเชื้อหรือไม่” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทยขณะนี้ ยังคงมีการระบาดของเชื้ออยู่บริเวณชายแดนกัมพูชา ชายแดนลาว ชายแดนพม่า และบางส่วนของชายแดนมาเลเซีย โดยประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยา และยาที่ใช้ในการรักษาก็ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโรค กำหนดไว้ว่าอัตราการหายขาดต้องไม่ต่ำกว่า 90% ซึ่งในประเทศไทย จากเดิมที่เคยได้ 100% ขณะนี้บางส่วนเหลือไม่ถึง 90% ในปีนี้จึงได้เตรียมเปลี่ยนสูตรยา จากยาอะติโซเดค และ เมคโซติน ไปใช้สูตรไดไฮโดรอาทีมิซินีน และพิเพอราควินทดแทน จากความร่วมมือขององค์การอนามัยโรค ซึ่งจะสามารถควบคุมการดื้อยาได้ดีกว่า โดยหลังจากนี้จะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้ยาตัวใหม่ได้