posttoday

พบเครื่องสำอางสมุนไพรไทยตกเกณฑ์ 14%

16 มกราคม 2556

สธ.พบเชื้ออันตรายในสมุนไพรไทยเพียบ ชี้อาจเกิดอักเสบรุนแรง

 สธ.พบเชื้ออันตรายในสมุนไพรไทยเพียบ ชี้อาจเกิดอักเสบรุนแรง

วันที่ 16 ม.ค. ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนางสุพัฒนา อาทรไผท ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดนิทรรศการสตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ประจำปี 2556 ภายใต้แนวคิด “งามสมวัย อย่างปลอดภัย ใจไม่เครียด”

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน หรือสินค้าโอทอป เช่น ว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เปลือกมังคุด มะขาม ขิง มะกรูด ชุมเห็ดเทศ ใบบัวบก หัวไชเท้า ขมิ้นชัน ไพล แตงกวา ดอกอัญชัน ที่นำมาเป็นส่วนผสมของแชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่น ฯลฯ โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2553 กำหนดให้เครื่องสำอางสมุนไพร จะต้องไม่พบเชื้อคลอสสตริเดียม (Clostridium spp.) เนื่องจากก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง เป็นฝีหนอง และกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ 3 ชนิด คือ แบคทีเรีย ยีสต์ และรา  ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยคือ ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม อย่างไรก็ตาม สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างเครื่องสำอางสมุนไพร จำนวน 527 ตัวอย่าง พบว่า  ตกเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 72 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14 โดยตรวจพบปริมาณรวมของเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา และพบเชื้อคลอสตริเดียมด้วย มากถึง 28 ตัวอย่าง

“ปริมาณเชื้ออยู่ในช่วง 8,400 - 50 ล้านโคโลนีต่อกรัม ซึ่งนับว่าเกินมาตรฐาน 8,000 -5 หมื่นเท่าตัว ซึ่งผู้ประกอบการอาจขาดความรู้ ความเข้าใจในการผลิตและเกิดการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต จึงได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดบริการตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยติดต่อรับบริการได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หากยังไม่ได้ตามเกณฑ์ จะมีการแนะนำเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต”

ด้าน นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางประเภทครีมและโลชั่น ที่มีสรรพคุณทำให้ใบหน้าขาว รักษาสิว ผ้า และกันแดด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้หญิงนิยมใช้มากที่สุด จำนวน 427 ตัวอย่าง จาก 4 ภาค พบว่ายังมีสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง 3 ชนิด  จำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพบสารปรอทแอมโมเนีย มากที่สุดถึง 38% โดยหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ผิวหนังบางขึ้นเรื่อยๆ  

รองลงมาคือสารไฮโดรควิโนน ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย พบ 29%  และกรดเรทิโนอิก ซึ่งทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง ระคายเคืองอักเสบ แพ้แสงแดดและแสงไฟง่ายขึ้น และยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ 2%  ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และประสานการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และจะให้ชมรมสตรีไทยห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีทุกจังหวัด 84 ชมรม รณรงค์ให้ความรู้ผู้หญิง ในการเลือกใช้ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันและลดอันตรายจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน