posttoday

วธ.ประกาศศิลปินแห่งชาติปี55

09 มกราคม 2556

กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศศิลปินแห่งชาติปี55ใน3สาขา16คน ทมยันตี-ดอกดิน-เพลินพรหมแดน ติดโผ เข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ 24 ก.พ.

กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศศิลปินแห่งชาติปี55ใน3สาขา16คน ทมยันตี-ดอกดิน-เพลินพรหมแดน ติดโผ เข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ 24 ก.พ.

วธ.ประกาศศิลปินแห่งชาติปี55 ดอกดิน,คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี)

นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แถลงข่าวประกาศรายชื่อ ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 จำนวน 16 คน ดังนี้

สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข(ประติมากรรม),นางเนื่อง แฝงสีคำ (ประณีตศิลป์ - ช่างทอง), ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี(สื่อผสม) และ ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ (จิตรกรรม)

สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางนงไฉน ปริญญาธวัช,คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ และ นายมกุฏ อรฤดี

สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางบัวซอน ถนอมบุญ (การแสดงพื้นบ้าน - การขับซอ), นายดอกดิน กัญญามาลย์(ภาพยนตร์),นายสมส่วน พรหมสว่าง(ดนตรีไทยลูกทุ่ง), นายมนัส ปิติสานต์(ดนตรีไทยสากล), พันโทเสนาะ หลวงสุนทร (ดนตรีไทย),พันโทวิชิต โห้ไทย (ดนตรีไทย - โยธวาทิต,นายเคล้าน้อย โรจนเมธากุล (การแสดงพื้นบ้าน - หนังตะลุง) และ นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง (ดนตรีไทย - คีตศิลป์)

สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต 150,000บาท เป็นต้น

ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 ซึ่งตรงกับ วันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย

สำหรับประวัติศิลปินแห่งชาติ อาทิ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ปัจจุบันอายุ 76 ปี มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักเขียน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้อ่านไม่ว่าจะมีการสำรวจความคิดเห็นกี่ครั้ง ในนามปากกา ทมยันตี และนามปากกาอื่นๆ อาทิ โรสลาเรน ลักษณาวดี กนกเลขา คุณหญิงวิมลเริ่มสร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้นในระยะแรก ต่อมาเริ่มเขียนนวนิยาย โดยนวนิยายเรื่องแรกชื่อในฝัน ในนามปากกาโรสลาเรน แต่นามปากกาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือทมยันตี โดยนวนิยายที่เป็นที่นิยมของทมยันตี อาทิ ดั่งดวงหฤทัย โสมส่องแสง ดาวเรือง ทวิภพ เป็นต้น

นายดอกดิน กัญญามาลย์ ปัจจุบันอายุ 88 ปี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เริ่มเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยเป็นนักแสดงจำอวดละครย่อย เป็นศิลปินเดี่ยวไปกับคระละครเร่ เล่นลิเก ร้องเพลง ต่อมาเล่นละครกับคณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล เป็นตัวตลกใช้ชื่อการแสดงว่า ดอกดิน เริ่มสนใจการสร้างหนัง โดยเริ่มรับบทบาทพากย์หนังจากประเทศฮ่องกง ให้กับนาย พิสิฐ ตันสัจจา เจ้าของศาลาเฉลิมไทย และมีโอกาสเรียนรู้การทำหนังจากสคริปหนังฝรั่งในปี 2494 จึงสร้างหนัง 16 มม.ขาวดำ เรื่องแรกชื่อสามเกลอถ่ายหนัง และรับแสดงภาพยนตร์ให้ครูเนรมิตเพื่อเรียนรู้การทำงานนำความรู้มาสร้างภาพยนตร์สีเรื่องแรก สาวชาวไร่ (2496) โดยเอาละครเวทีมารวมกับหนังก็ประสบความสำเร็จ และสร้างเรื่องอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง มีผลงานสร้างภาพยนตร์ทั้งหมด 32 เรื่อง ในชื่อกัญญามาลย์ภาพยนตร์ อาทิ นกน้อย กาเหว่า นกเอี้ยง ปูจ๋า สายฝน เป็นต้น

นายสมส่วน พรหมสว่าง หรือ เพลิน พรหมแดน เริ่มร้องเพลงเมื่ออายุ 20 ปี เศษ ได้สมัครเข้าประกวดร้องเพลงตามงานต่างๆ ที่รับสมัครประกวดร้องเพลง และได้เข้ามาร้องเพลงเชียร์รำวงในคณะรำวง คณะตาเหมือน เมื่อสถานีวิทยุยานเกราะประกาศรับสมัครประกวดร้องเพลง นายสมส่วนได้สมัครเข้าแข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศ ภายหลังได้ก้าวเข้าสู่วงการดนตรีโดยเข้าสังกัดในคณะวงดนตรีจำรัสวิภาตวัต หัวหน้าวงดนตรี คือ จำรัส วิภาตวัต ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนชื่อจากนายสมส่วน พรหมสว่าง มาเป็น เพลิน พรหมแดน

ต่อมา ได้แยกตัวออกมาตั้งวงดนตรี เพลิน พรหมแดน โดยเพลงส่วนใหญ่ เพลิน พรหมแดนจะเป็นผู้แต่งเองและร้องเอง แนวเพลงที่ทำให้ประสบความสำเร็จจะเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและคำพูดในแนวตลกสนุกสนานจนได้รับสมญานามว่า ราชาเพลงพูด เพลงแรกที่เพลิน พรหมแดนได้ร้องคือเพลง "สมัครด่วน" ผลงานเพลงที่ประสบความสำเร็จโด่งดังที่สร้างชื่อให้แก่เพลิน พรหมแดน ได้แก่ เพลงชมทุ่ง คนเดินดิน โกนจุกสิงโต