posttoday

กรมศิลปากรแจ้งจับผู้รับเหมารื้ออาคารศาลฎีกา

05 มกราคม 2556

อธิบดีกรมศิลปากร เผยเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้รับเหมารื้อถอนอาคารศาลฎีกาข้อหาทำลายโบราณสถานแล้ว

อธิบดีกรมศิลปากร เผยเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้รับเหมารื้อถอนอาคารศาลฎีกาข้อหาทำลายโบราณสถานแล้ว

สมาคมอีโคโมสไทย จัดเสวนา เรื่อง “หยุดรื้อโบราณสถาน ศาลฎีกา…” ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อธิบดีกรมศิลปากร, ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, สมาคมนักผังเมืองไทย, หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร และอาจารย์จากคณะสถาปัตฯ จุฬาฯ เข้าร่วมเสวนาเพื่อเสนอแนวทางและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคัดค้านการรื้อถอนอาคารศาลฏีกา

นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้เข้าแจ้งความ เอาผิดผู้รับเหมาที่ดำเนินการรื้อถอนอาคารศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 2504 ตามมาตรา 4 แล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ม.ค. ที่ สน.ชนะสงคราม ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการส่งหนังสือแจ้งถึงประธานศาลฎีกาหลายครั้ง เพื่อขอให้ดำเนินการชะลอการรื้อถอนอาคารศาลฎีกาแต่ไม่เป็นผล

นายสหวัฒน์ กล่าวว่า อาคารศาลฎีกาดังกล่าวถือเป็นโบราณสถานสำคัญของไทย เป็นโบราณสถานทางด้านสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ดังนั้นจึงถือเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรโดยตรงในการที่จะเข้าปกป้องอนุรักษ์ เรื่องอันเกี่ยวกับทรัพย์สินมรดกอนุรักษ์ของชาติ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 2504 ในการดำเนินการ

น.ส.มาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร กล่าวว่า แม้ประธานศาลฎีกาจะไม่ได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนอาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานแห่งชาติ แต่โดยตามหลักของ พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น อำนาจหน้าที่ในการตัดสินว่าสถานที่ใดจะเป็นโบราณสถานหรือไม่นั้นเป็นสิทธิ์ขาดของกรมศิลปากร ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้นมีผลทางกฎหมายโดยแตกต่างกันที่เพียงบทลงโทษ

"ในกรณีหากมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การรื้อถอนใดใดโดยพละการ อธิบดีกรมศิลปากรจะมีอำนาจขาดเข้าไประงับการรื้อถอนได้ทันที หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ในกรณีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อธิบดีจำไม่สามรถเข้าไปดำเนินการสั่งห้ามรื้อถอนได้ทันที หากยังฝ่าฝืนและมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับไม่เกิน 7 แสนบาท"น.ส.มาลีภรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้อธิบดีกรมศิลปากรจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้รับเหมารื้อถอนอาคารศาลฎีกา แต่ปรากฎว่าร้อยเวร รับแจ้งความพร้อมลงบันทึกประจำวัน แต่ไม่กล้าเข้าดำเนินการจับกุมได้ทันที โดยรอให้ผู้บังคับบัญชา หัวหน้ากลุ่มสอบสวนเข้ามาดำเนินคดีกับผู้รับเหมาในวันที่ 7 ม.ค. นี้แทน

นางภารนี สวัสดิรักษ์ ผู้แทนเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า อาคารศาลฎีกาถือเป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่บ้านของศาล เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องระหว่างศาลฎีกากับกรมศิลปากร แต่เป็นเรื่องของประชาชนในสังคมด้วย ศาลควรเป็นต้นแบบที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย

ทั้งนี้การดำเนินการรื้ออาคารศาลฎีกา ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2531 นับระยะเวลาจนถึงปัจจุบันกว่า 25 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการส่งหนังสือเรียนไปยังประธานศาลฎีกา ระบุถึงอาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และถือเป็นโบราณสถาน ซึ่งอาคารที่ถูกดำเนินการรื้อถอนนั้นอายุราวกว่า 70 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสิทธิศักดิ์ วนะกิจ ฝ่ายโฆษกศาลยุติกรรม กล่าวว่า จะมีการพูดคุยกับกรมศิลปากรอีกครั้งภายในต้นปีนี้ เพราะการรื้อถอนอาคารได้ผ่านมติครม. และได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเมื่อเดือน ก.ย. 2555 ที่ผ่านมาแล้ว พร้อมทั้งยังได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเอกชนในการดำเนินการรื้อถอนอาคารดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว