posttoday

ขปส.ตั้งม๊อบร้องรัฐคุ้มครอง ‘คลองไทร’

24 ธันวาคม 2555

สกต.จับมือขปส.ร่วมเจรจาที่ดินทำกินคลองไทร เรียกร้องนายกฯดูแลความปลอดภัย รองเลขาฯ รับปากส่งจนท.ส่วนกลางลงพื้นที่

สกต.จับมือขปส.ร่วมเจรจาที่ดินทำกินคลองไทร เรียกร้องนายกฯดูแลความปลอดภัย รองเลขาฯ รับปากส่งจนท.ส่วนกลางลงพื้นที่

สมาพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กว่า 500 คน ได้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอเจรจาแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ไชยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอบยิงด้วยอาวุธสงคราม (M16) เสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา และเร่งรัดให้มีการส่งมอบพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 55 แห่งทั่วประเทศ
 
นายกฤษกร ศิลารักษณ์ ผู้ประสานงานขปส. เผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนคลองไทร เกิดจากความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบายของนายกรัฐมนตรีทั้งในเรื่องที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการของรัฐบาล เพราะมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจึงทำให้ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสานต่อ
 
“ตอนนี้ในระดับปฏิบัติก็ยังไม่มีความชัดเจน เราก็พยายามที่จะเสนอท่านนายก เกิดการเจรจาเพื่อที่จะเสนอนโยบาย ซึ่งมีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน เมื่อไม่มีความชัดเจนตรงนี้ระดับปฏิบัติก็เดินหน้าต่อไม่ได้ หากนายกมาให้นโยบายทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ วันนี้เราจึงพยายามให้ท่านนายกได้มีนโยบายที่ชัดเจน โดยปัญหาหลักคือปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน” นายกฤษกร กล่าว
 
ด้านตัวแทนชาวบ้านชุมชนคลองไทร กล่าวว่า จากกรณีสมาชิกสกต. ถูกยิงเสียชีวิต 2 รายนั้นยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากไม่มีพยานบุคคลเพื่อที่จะเป็นหลักฐาน มีเพียงพยานวัตถุ สำหรับเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้าน ทางชุมชนได้ยื่นหนังสือเพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแลความปลอดภัยของชาวบ้าน โดยได้ยื่นหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แต่กลับถูกปฏิเสธว่ากำลังมีไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกันได้พยายามขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ส่วนกลางแต่ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะอ้างว่าไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ และพบว่าการซื้อขายที่ดินในชุมชนคลองไทร โดยตามหลักฐานหนังสือสัญญาซื้อขายได้ไปทำที่สถานตำรวจภูธรอำเภอเขาพนม และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานีด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว นอกจากนี้ในเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ญาติของผู้เสียชีวิตนั้น ขณะนี้ได้ยื่นเรื่องแก่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแล้ว แต่อยากเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว เพราะทางผู้เสียหายกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อทำศพจนเป็นหนี้สิ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวบ้านพื้นที่เทือกเขาบรรทัดเข้าร่วมเจรจาและร้องเรียนถึงปัญหา โดยในพื้นที่มีการประกาศเป็นเขตอุยานทับที่ทำกินของชาวบ้านเมื่อพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นที่ดินดั้งเดิมอยู่ในเขตจ.ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สตูล (บางส่วน) และสงขลา (บางส่วน) ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะชาวบ้านไม่สามารถโค่นต้นยางที่หมดอายุได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีในนามของขปส. และมีคำสั่งออกมาว่าให้ชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้าน แต่พบว่ายังมีเจ้าหน้าที่ไปขับไล่ชาวบ้านอยู่

ด้านนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้ตอนนี้คือให้ข้อมูลด้านการข่าว ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัย จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปดูแลและทำคดี นอกจากนี้จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยเสนอประเด็นที่ต้องการแก้ไขโดยด่วนไปเพื่อให้พิจารณา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายสุพรกล่าวเพิ่มเติมในกรณีชาวบ้านพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัดว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มีความพยายามใช้แนวทางมวลชนจัดการมวลชน รวมทั้งการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งสามารถใช้กฎหมายของอุทยานดำเนินการกับชาวบ้านได้ แต่ขณะนี้ยังใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนอยู่