posttoday

รุมสวด"ปลอด"ลังเลออกกฎห้ามขายเหล้าบนทางเท้า

19 ธันวาคม 2555

เอ็นจีโอ-นักวิชาการ จวก “ปลอดประสพ” หลังลังเลออกกฎหมายห้ามขายเหล้าบนทางเท้า ชี้ไม่ควรมองเป็นการรังแกคนจน

เอ็นจีโอ-นักวิชาการ จวก “ปลอดประสพ” หลังลังเลออกกฎหมายห้ามขายเหล้าบนทางเท้า ชี้ไม่ควรมองเป็นการรังแกคนจน

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)  กล่าวว่า ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ออกมาระบุว่า ไม่มั่นใจว่าการออกกฎหมายห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้านั้นเหมาะสมหรือไม่รวมทั้งระบุว่าควรใช้มาตรการทางสังคมมาดูแลนั้น ยืนยันว่าการขายสุราบนถนน และทางเท้า มีความสัมพันธ์กับการดื่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อปัญหาเฉียบพลัน ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง ความปลอดภัย และด้านความสะอาด สงบเรียบร้อย

ภก.สงกรานต์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญร้านเหล้าริมทางจำนวนมากยังมุ่งไป ที่เยาวชนอีกด้วยกฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การห้ามดื่ม แต่เป็นการจัดระเบียบทำให้การขายสุราเป็นระบบระเบียบมากขึ้น และเป็นการช่วยทำให้ถนนและทางเท้าปลอดภัยมากขึ้น  ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากมีกฎระเบียบชัดเจนในการห้ามการขายในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะบนถนนและทางเท้า

ทั้งนี้ไม่ควรตกหลุมพรางทางความคิดว่ากฎหมายนี้เป็นการรังแกคนจน เพราะคนที่มีรายได้น้อยนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์และการปกป้องจากมาตรการนี้ คนจนมีความเสี่ยงต่อปัญหาสูง และเมื่อเกิดปัญหาก็มีผลกระทบรุนแรงกว่าคนรวย 

ด้าน นางนิษฐา  หรุ่นเกษม เครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังภัยจากปัญหาแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร   กล่าวว่า มาตรการนี้จะทำให้คนทุกกลุ่มคนในทุกชนชั้นได้ใช้พื้นที่ได้ใช้ทางสาธารณะอย่างปลอดภัย แต่กำลังจะถูกเบี่ยงเบนจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงด้วยการใช้วาทกรรมแห่งการแบ่งแยก ระหว่างความจนกับความรวย เพราะสิ่งที่มาตรการนี้กำลังจัดการคือกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำเมา กลุ่มทุนหลักที่กำลังครอบครองพื้นที่สาธารณะของบุคคล พื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ของพวกเราไม่ได้เป็นพื้นที่ของเรา เมื่อถูกควบรวมให้กลายเป็นเพียงพื้นที่ทางการตลาดในการขายน้ำเมาและโฆษณาน้ำเมา

“เราทุกคนจะได้ประโยชน์จากการไม่มีน้ำเมาขายบนทางสาธารณะด้วยกัน คิดถึงงานเทศกาลต่างๆ เช่นกรณีบั้งไฟ กาชาด หรือสงกรานต์ ที่ร้านขายเหล้าเบียร์เกลื่อน และกลายเป็นปัญหาที่ไปทำลายประเพณีวัฒนธรรมคุณค่าเดิมในงานเหล่านั้นกลายเป็นช่องทางที่ บริษัทเหล้าใช้เป็นช่องทางในการทำมาหากิน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามถนนประเด็นนี้ก็ไม่ควรลืม นอกจากวาทกรรมคนจน คือ ช่องว่างทางกฎหมาย ที่บริษัทเหล้าจงใจใช้เป็นช่องทางส่งเสริมการขายในงานเทศกาลต่างๆ จนเป็นปัญหาของสังคมอยู่ตอนนี้”นางนิษฐา กล่าว