posttoday

"ปลอด"รับห้ามดื่มเหล้าบนถนนทำยาก

18 ธันวาคม 2555

ปลอดประสพชี้ออกกฏหมายห้ามดื่มสุราบนถนนทำยากรับคิดไม่ตกเสนอห้ามจำหน่ายเหล้าบนทางเท้ามาถูกทางหรือไม่

ปลอดประสพชี้ออกกฏหมายห้ามดื่มสุราบนถนนทำยากรับคิดไม่ตกเสนอห้ามจำหน่ายเหล้าบนทางเท้ามาถูกทางหรือไม่

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ภายใต้หัวข้อ "ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ" พร้อมกล่าวปาฐกถาว่า มุมมองด้านสาธารณสุข แบ่งโรคออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโรคและโรคที่เกิดจากพฤติกรรมตนเอง อย่างการบริโภคที่ไม่เหมาะสม อาทิ โรคอ้วน การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาคอเรสเตอรอลในเลือด ความดัน และโรคเบาหวาน ซึ่งแม้แต่พระสงฆ์เองก็ได้รับผลกระทบจากการรับบาตรอาหารเหล่านี้

ดังนั้นในการประชุมจึงควรมีฉันทามติเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะโรคกลุ่มหลังนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการแก้ไขพฤติกรรม รวมไปถึงกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่าง โรคเอชไอวี/เอดส์ โรคซิฟิลิส ที่ต้องอาศัยภาคประชาสังคมเข้าไปรณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกัน เพราะการทำงานแค่หน่วยงานเดียว กระทรวงเดียวคงไม่สามารถทำได้

ขณะนี้มีประเด็นที่กำลังวิพากย์วิจารณ์กันคือการแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยขณะนี้มีข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้าด้วยการออกประกาศตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2555 ซึ่งส่วนตัวยังคิดไม่ตกว่าการออกมาตรการทางกฎหมายแบบนี้เดินมาถูกทางหรือไม่ หรือควรใช้มาตรการทางสังคม เพราะมาตรการทางกฎหมายปัจจุบันมีการควบคุมอยู่แล้วคือ พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียกร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่ห้ามทำกิจกรรมบนทางเท้าอยู่แล้ว เพียงแต่การใช้มาตรการทางสังคมจะต้องมีการหล่อหลอมกันมากพอควร

"การห้ามดื่มสุราบนถนน หากจะออกเป็นมติกฎเกณฑ์ ต้องถามว่าในทางปฏิบัติจะทำได้หรือไม่ หากเป็นไปได้มีวิธีการหลีกเลี่ยงที่ไม่ต้องบังคับ จะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ยอมรับว่าอาจทำได้ยากเพราะที่ผ่านเราไม่เคยมีกติกาที่ควบคุมสังคม ซึ่งหากจะควบคุมสังคมจะทำอย่างไร" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานสัมชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555 กล่าวว่าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ มีทั้งหมด 9 วาระ บวก 1 ทั้งหมดเป็นงานวิชาการที่ร่วมทำงานมาตลอด 1 ปี แบ่งเป็น 10 กลุ่ม อาทิ เด็กกับไอทีกับการใช้เวลาที่เหมาะสม ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์ โดยเฉพาะการฉันท์อาหารที่ได้รับถวายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งมีหลายกรณีที่ยังเป็นปัญหาอย่าง การทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาหมอกควัน การจัดทำอีเอชไอเอเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการจัดทำหลักเกณฑ์การอาหารที่ดีให้ปราศจากสารเคมี รวมไปถึงการทำอย่างไรให้ประชาชนมีการออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในส่วนของลานสมัชชาสุขภาพ ที่เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน

"ฉันทามติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพในครั้งนี้ จะนำเสนอสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งหากเห็นชอบจะมีการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป" ประธานประธานสัมชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555 กล่าว