posttoday

กรมอุทยานฯเข้มลอบค้างาช้างผิดกม.

17 ธันวาคม 2555

กรมอุทยานตรวจเข้มป้องกันลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสัตว์ป่า

กรมอุทยานตรวจเข้มป้องกันลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสัตว์ป่า

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า จากปัญหาการลักลอบค้างาช้างว่า จากปัญหาการลักลอบล่าช้างป่าเพื่อเอางาไปทำผลิตภัณฑ์ไว้จำหน่ายและการลักลอบนำเข้างาช้างที่ผิดกฎหมาย เช่น งาช้างแอฟริกันและงาช้างป่าเข้ามาปะปนกับการค้างาช้างบ้านเป็นจำนวนมาก โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจับกุมการลักลอบขนงาช้างแอฟริกาเข้าประเทศได้กว่า 10 ตัน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้จับกุมนาย Guyen Hoai Nam ชาวเวียดนามพร้อมงาช้างแอฟริกันจำนวน 11 ท่อนที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

สำหรับการป้องกันการลักลอบค้างาช้างบ้านแม้จะมีพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์พ.ศ.2499 ที่ผู้ประกอบการสามารถทำการค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้านได้ แต่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ 1.ผู้ประกอบการที่ค้างาช้างบ้านจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2.มีการจัดทำใบกำกับงาช้างบ้านที่ถูกต้อง โดยเป็นงาที่ได้มาจากช้างที่ได้ตั๋วรูปพรรณตามพ.ร.บ.สัตว์พาหนะพ.ศ.2482 และต้องมีใบกำกับงาช้างจากกรมการปกครองและกรมปศุสัตว์แสดงไว้เป็นหลักฐาน 3.ต้องมีการควบคุมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงานช้างบ้านโดยทำบัญชีการควบคุมผลิตภัณฑ์จากงานช้างบ้าน 4.มีการออกในเสร็จรับเงิน ประกอบด้วยชื่อ นามสกุล และคำรับรองว่าเป็นงาช้างบ้านจริง และ5.การขอความร่วมมือไม่ขายงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างทุกประเภทให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ช้างเป็นสัตว์ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศเพื่อการค้า และประกอบกับมีขบวนการลักลอบค้างาช้าแอฟริกาทั้งการนำเข้า หรือการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังปลายทาง ประเทศไทยจึงมีมาตรการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศที่เข้มงวดให้เป็นไปตามเงื่อนไขอนุสัญญา CITES เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของไทยในการค้างาช้างที่ได้มาจากสัตว์พาหนะ โดยหากไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ประเทศไทยอาจถูกเสนอระงับการค้าสัตว์และพืชในบัญชีอนุสัญญา CITES อันจำนำไปสู่ความสูญเสียรายได้มูลค่าหลายล้านบาท

ขณะเดียวกัน นายธีรภัทร ยังเผยถึงสถิติการจับกุมคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าในปีงบประมาณพ.ศ.2555 ว่า สามารถจับกุมคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั่วประเทศได้ 668 คดี สามารถจับกุมผู้กระทำผิด 702 คน ยึดสัตว์ป่าของกลางได้ 14,690 ตัว ยึดซากสัตว์ของกลางได้ 3,298 ชิ้น โดยพบซากสัตว์ป่าของกลาง เช่น เต่า ตะกวด เหี้ย งู กิ้งก่า เสือ ช้าง ลิง ลิงลม นก ฯลฯ

นายธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้ทางกรมได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันปราบปรามผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยเฉพาะการจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านสัตว์ป่าประเภทสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการกระจายและข้อมูลด้านนิเวศวิทยาของสัตว์ป่าประมาณ 2,000 ชนิดในประเทศไทย และได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนในการป้องกันการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าอย่างเป็นระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ (DNA) ลายเสือโคร่งสำเร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยเป็นเสือที่อาศัยอยู่ในกรงประมาณ 1,400 ตัว และเสือป่าอีกประมาณ 200 ตัว รวมทั้งการทำฐานข้องมูล DNA ของช้างบ้านโดยมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 50 ขณะที่ปีงบประมาณพ.ศ.2555 นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังรับสัตว์ที่บาดเจ็บและพลัดหลงเป็นจำนวนมากมาเลี้ยงดูก่อนปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ด้านนางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ รองปลัดทส. เผยว่า เนื่องจากวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยในปีนี้กรมอุทยานฯ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ฯ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 หัวข้อหลัก คือ 1.การรณรงค์เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสัตว์ป่า 2.การต่อต้านการทารุณสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ภายใต้หัวข้อ “หยุดกิน หยุดล่า หลุดลักลอบค้าร่วมใจรักษาสัตว์ป่าทั่วไทย” โดยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2555 ณ สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพมหานคร สำหรับในส่วนของภูมิภาคสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 จะจัดงานคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ วันที่ 26 ธันวาคม 2555 พร้อมกันในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ