posttoday

ผลวิจัยชี้ความรุนแรงส่งผลรุ่นต่อรุ่น

13 ธันวาคม 2555

อึ้ง!ผลวิจัยชี้ ความรุนแรงส่งผลรุ่นต่อรุ่น ต้นเหตุจากอำนาจ ระบบชายเป็นใหญ่ เผยไทยละเลยแนวคิดบำบัดจิตพฤติกรรม"นักวิชาการ" ชี้จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมาย

อึ้ง!ผลวิจัยชี้ ความรุนแรงส่งผลรุ่นต่อรุ่น ต้นเหตุจากอำนาจ ระบบชายเป็นใหญ่ เผยไทยละเลยแนวคิดบำบัดจิตพฤติกรรม"นักวิชาการ" ชี้จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ในเวทีเสวนา "การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว" จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์สาขาวิชามนุษย์นิเวศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลการวิจัยโดยศึกษาเอกสารทางวิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศและสำรวจข้อมูลจากหน่วยงานและชุมชนรวมไปถึงการถอดบทเรียนการจัดการให้ผู้กระทำได้รับการบาบัดฟื้นฟู พบว่า สาเหตุที่ผู้ชายกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะต้องการใช้อำนาจ ระบบคิดชายเป็นใหญ่ สภาพจิตใจที่ยอมรับพฤติกรรมรุนแรงการหล่อหลอมอบรมขัดเกลาซึ่งสามารถส่งผ่านการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำ จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ที่สำคัญคือผู้กระทำต้องยอมรับการบำบัดฟื้นฟู ทั้งโดยสมัครใจและบังคับบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำโดยสร้างความรู้พื้นฐานการอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคม

รศ.บุญเสริม กล่าวว่า กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญประเมินระดับความรุนแรงและต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือหน่วยงานยุติธรรม ขณะเดียวกันระหว่างที่รับการบำบัดฟื้นฟู ต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย อาทิไม่ถูกรบกวน ข่มขู่ คุกคาม

ด้านนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่าบทบาทหน้าที่หลักคือการนำกระบวนการทางกฏหมายมาใช้เพื่อให้การกระทำความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการบำบัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายภาคเอกชนฟื้นฟูและบำบัดผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรงทั้งในโรงพยาบาลและตามมูลนิธิต่างๆวิธีที่ถูกต้องโดยจะดูสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นหลักเพื่อแก้ไขไม่ให้กลับไปทำซ้ำอีก

สำหรับการบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในหลายประเทศทำกันมานานแล้วโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนนาดาอังกฤษ เป็นต้นซึ่งประเทศไทยได้นำวิธีเหล่านี้มาเป็นต้นแบบแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะความไม่เข้าใจในกระบวนการบำบัดรักษาอีกทั้งผู้ถูกกระทำเองไม่ให้ความร่วมมือรวมถึงทัศนคติเก่าๆที่ปลูกฝังให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายยอมทุกอย่างจึงมองเป็นเรื่องปกติทำให้ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดีกับสามีแม้จะถูกทำร้ายร่างกายก็ตาม

ด้านนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูงหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้กระทำความรุนแรงหันหน้าเข้าพึ่งหน่วยงานรัฐแต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือและยังไม่มีระบบรองรับเจ้าหน้าที่บางคนไม่เข้าใจกระบวนการขาดทักษะการมีส่วนร่วมคลี่คลายหรือการฟื้นฟูเบื้องต้นรวมถึงขาดความพร้อมในการส่งต่อระบบตามกฎหมายซึ่งสุดท้ายจึงมักนำไปสู่จุดจบคือความสูญเสียที่มีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ฉุกคิดไม่มองเป็นเรื่องส่วนตัวของครอบครัว แต่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการที่ต้องบำบัดฟื้นฟูไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ