posttoday

หมอแนะศธ.จัดตรวจตาบอดสีให้เด็กป.1

02 ธันวาคม 2555

จักษุแพทย์แนะศธ.จัดตรวจตาบอดสีให้เด็ก เพื่อเป็นแนวทางการเลือกเรียน-อาชีพ ป้องกันการเสียโอกาส ลดผลกระทบจิตใจ

จักษุแพทย์แนะศธ.จัดตรวจตาบอดสีให้เด็ก เพื่อเป็นแนวทางการเลือกเรียน-อาชีพ ป้องกันการเสียโอกาส ลดผลกระทบจิตใจ

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเด็กนักเรียนหลายคนที่ต้องพลาดโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพที่ต้องการ เนื่องมาจากปัญหาสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะโรคตาบอดสี (Color Blindness) ซึ่งปีนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว เช่นกรณีเด็กนักเรียนอายุ 16 ปี เป็นความหวังของครอบครัว เสียเงินค่าเรียนกวดวิชาหลายหมื่นบาท เพื่อหวังสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ผลปรากฎว่าเด็กรายนี้สอบได้ แต่เด็กไม่ทราบว่าเป็นโรคตาบอดสีมาก่อนกวดวิชา มารู้ตอนหลังถึงแม้ว่านักเรียนผู้นี้จะผ่านข้อเขียน ก็ไม่สามารถผ่านการตรวจร่างกายเพราะเป็นโรคตาบอดสี

สำหรับโรคตาบอดสีไม่ใช่โรคตาบอดหรือมองไม่เห็น และโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หากมีพ่อหรือแม่เป็น   คนไทยยังรู้จักโรคนี้น้อย ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีมีการมองเห็นเป็นปกติ แต่จะมีความผิดปกติในเรื่องของการแยกสี

ทั้งนี้โดยทั่วไปจะมี 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มตาบอดสีแต่กำเนิดซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมตาบอดสีชนิดนี้พบมากในผู้ชายร้อยละ 7 และผู้หญิงพบร้อยละ 1  แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดคือตาบอดสีแดง สีเขียว (red/green color blindness) ผู้ป่วยจะแยกสีแดงและสีเขียวออกจากสีอื่นๆ ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเวลาที่แสงไม่สว่างนัก ชนิดที่พบรองลงมาคือตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลือง (blue/yellow color blindness) มีปัญหาในการแยกสีน้ำเงินและเหลืองออกจากสีอื่นค่อนข้างลำบาก   ซึ่งคนที่บอดสีแดง สีเขียว มักจะมีปัญหาบอดสีน้ำเงิน สีเหลืองด้วย  

ขณะที่ชนิดสุดท้ายคือตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia หรือ Total Color Blindness) เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นสีทุกสี เห็นแต่เพียงสีขาวและดำเท่านั้น และ2.กลุ่มตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลัง จะพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางจอประสาทตาหรือโรคเส้นประสาทตาอักเสบ พบได้น้อย ผู้ป่วยจะมองเห็นสีต่างๆ แต่มักเรียกชื่อสีหรือเห็นสี ผิดไปจากสีที่แท้จริง ส่วนใหญ่จะผิดปกติสีน้ำเงิน สีเหลือง มากกว่าสีแดงสีเขียว โดยความผิดปกตินี้อาจเป็นตาเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ตา ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวว่า ปัจจุบัน วงการจักษุแพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถรักษาโรคตาบอดสีให้หายขาดได้ และตาบอดสีในคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแต่กำเนิด วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ว่าตนเองมีปัญหาหรือไม่ก็คือการตรวจความผิดปกติสายตาเพื่อให้รู้ตัวว่าเป็นโรคตาบอดสีหรือไม่ จะได้วางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม เลือกงานอาชีพที่ปลอดภัย ในกลุ่มประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการมองเห็นตนเอง หากมองแล้วแยกสีไม่ได้เหมือนคนอื่นควรพบจักษุแพทย์

โรคนี้ไม่มียารักษา สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เลือกงาน และอาชีพที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยาที่เป็นโรคนี้ มีความเสี่ยงถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่บุตรหลาน ขอแนะนำให้พาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าลูกมีปัญหาตาบอดสีหรือไม่ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้รู้ว่าบอดสีประเภทไหน เพื่อวางแผนอนาคตของลูก ทั้งเลือกสายการเรียน อาชีพในอนาคต การใช้ชีวิตประจำวัน

“ในฐานะจักษุแพทย์   ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่มบริการตรวจคัดกรองตาบอดสีให้เด็กนักเรียนที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกโรงเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจตาบอดสีในโรงเรียนมาก่อน การตรวจตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ 1 จะเป็นผลดีต่อตัวเด็ก ทำให้เด็กรู้ปัญหาของตนเอง รวมทั้งพ่อแม่รู้ปัญหาของลูก เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตจนกระทั่งมีครอบครัว ลดผลกระทบทางจิตใจ ” นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าว

ทั้งนี้ อาชีพที่ไม่เหมาะสมกับคนตาบอดสี คืออาชีพที่ต้องมีการใช้สีเป็นตัวแสดงถึงสิ่งต่างๆ และเกี่ยวข้องกับอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินผู้อื่น เช่น ทหาร ตำรวจ นักบิน นักเดินเรือ นักร้อยสายไฟ วิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ รวมทั้งอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะสี เช่น นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี  จิตรกร  พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า (QC) เป็นต้น หากทราบว่าเป็นตาบอดสีตั้งแต่แรกๆ มักไม่มีผลกระทบต่อจิตใจมาก เพราะจะได้รับคำแนะนำ มีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม เช่นหากตาบอดสีขาวดำ สามารถเป็นนักบัญชีได้ หรือเป็นนักกีฬาบางประเภท เช่นนักว่ายน้ำได้