posttoday

โวยแผนเอดส์ชาติจัดชายรักชายเสี่ยงเอชไอวี

29 พฤศจิกายน 2555

ประธานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ชี้แผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ ไม่ควรระบุ "ชายรักชาย" เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะการติดเชื้อเกิดจากพฤติกรรม

ประธานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ชี้แผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ ไม่ควรระบุ "ชายรักชาย" เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะการติดเชื้อเกิดจากพฤติกรรม

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง “ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งได้ร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สมาคมฟ้าสีรุ้ง เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร กลุ่มสะพาน กลุ่มบ้านเราแสนสุขใจ มูลนิธิ forsogi มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน และโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวว่า การที่แผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติได้มีการระบุกลุ่มชายรักชาย ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นั้นอาจไม่เสมอไป และไม่ควรจัดกลุ่มแบบนี้ เพราะการติดเชื้อเอชไอวีจะติดได้สาเหตุเพราะว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้คนติดเชื้อ เอชไอวีมากที่สุดก็คือ เพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน รองลงมาคือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด

ด้าน พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองสัสดี กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลเพศที่สามต่อการตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้ารับราชการทหารว่า ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 2555 ได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 75 ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้ โดยมีการแบ่งกลุ่มของบุคคลเพศที่สามในการคัดเลือกการเป็นทหารกองเกินว่า ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด

ทั้งนี้กระทรวงได้ตั้งหลักเกณฑ์ของบุคคลเพศที่สามในการคัดเลือกทหารกองเกิน โดยประการแรก คือต้องมีการแปลงเพศแล้ว ประการที่สอง ต้องมีภาวะของฮอร์โมนของเพศหญิงมาก และประการสุดท้าย คือไม่ได้มีการแปลงเพศหรือไม่มีปรับเปลี่ยนร่างกายใด ๆ แต่จิตใจมีความเป็นผู้หญิง ซึ่งในกรณีนี้เป็นกรณีที่พิสูจน์ยากจึงได้ตั้งระเบียบโดยต้องขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยัน โดยได้ทางกระทรวงได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขทั้งในโรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลรัฐ ในการให้แพทย์เฉพาะทางตรวจและใช้แบบประเมินในรูปแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ได้มีการจัดการปฐมนิเทศของผู้ปฏิบัติการตรวจเลือด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นในแนวทางเดียวกันของการปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลเพศที่สาม รวมทั้งได้มีการจัดคณะกรรมการไปตรวจเยี่ยมในการปฏิบัติงานของพนักงานต่อบุคคลเพศที่สาม และมีการประชุมหลังการปฏิบัติงานเพื่อหาข้อผิดพลาดและหาทางแก้ไข

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เสนอข้อเรียกร้องว่า ไม่อยากให้มีการตีตราหรือแบ่งกลุ่มมนุษย์เป็นหมวด ๆ ตามใบสด.43 และไม่เห็นด้วยในการระบุกลุ่มบุคคลเพศที่สามว่าเป็นโรคทางจิต ซึ่งเห็นว่าในการตรวจร่างกายทหารกองเกินนั้น ได้มีการใช้เกณฑ์การตรวจโรคมาอ้างและทำให้เป็นการตีตราว่เป็นโรค และยังขอให้สิทธิแก่บุคคลเพศที่สามในการเข้ารับเป็นทหารกองเกินอีกด้วย

จากข้อมูลล่าสุดระบุว่า บัญชีจำแนกโรคและแนวทางการรักษา (IDC-10) ขององค์การอนามัยโลก ได้ถอดถอนคนรักเพศเดียวกัน ที่เป็นกลุ่มหญิงรักหญิง เกย์ (Homosexual) แล้วว่าไม่ได้มีความผิดปกติทางจิต แต่ยังคงระบุว่ากลุ่มกะเทย / คนข้ามเพศ (Transgenderism / Transsexuals) เป็นกลุ่มจำพวกมีความผิดปกติทางจิต (Gender Identity Disorder) แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงถ้อยคำดังกล่าวจากกลุ่มจำพวกที่มีความผิดปกติทางจิต เป็น Gender Dysphoria ซึ่งในมิติทางการแพทย์ต้องมีองค์ประกอบคือ ภาวะความทุกข์ในเพศภาวะและเพศวิถีของตนซึ่งเกิดขึ้นกับบางบุคคลเท่านั้นที่ไม่พึงพอใจในเพศวิถีของตน