posttoday

ตัดวงจรค้ามนุษย์ ล่อลวงใช้แรงงานตังเก

26 พฤศจิกายน 2555

ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กำลังกังวลว่า

โดย...วัสยศ งามขำ

ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กำลังกังวลว่า สถานการณ์หลอกลวงแรงงานไปเป็นลูกเรือตังเกจะมีความรุนแรงมากขึ้น หลังพบว่าหนุ่มๆ วัยรุ่นทั้งไทยและพม่าหลายคนถูกขบวนการตุ๋นแรงงานหลอกไปเป็นลูกเรือประมงที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาสกลางทะเล

พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผบก.ปคม. บอกว่า มีแรงงานทั้งไทยและพม่าจำนวนมากถูกหลอกไปค้าแรงงานในเรือประมง หลังจากที่ผ่านมาได้รับการแจ้งเรื่องราวประเภทนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตำรวจต้องลงพื้นที่เพื่อแจ้งให้เจ้าของเรือและแรงงานประมงรู้ถึงความผิดและวิธีการต่างๆ ของแก๊งค้าแรงงานผิดกฎหมาย ภายใต้โครงการป้องกันและปราบปรามการการค้ามนุษย์รูปแบบหลอกลวงแรงงานไปบังคับใช้ในเรือประมง

“ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ตำรวจเราสามารถช่วยเหลือแรงงานที่ถูกหลอกลวงไปได้แล้วรวม 20 คดี มันอาจจะดูน้อยแต่ความเป็นจริงแล้วเป็นคดีที่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่ามีแรงงานจำนวนมากถูกลวงไปทำงานโดยไม่สมัครใจ แต่หลังจากกลับฝั่งแล้วก็ไม่ได้เข้าแจ้งความ ทำให้ตำรวจไม่รู้เรื่อง เราจึงเดินหน้าป้องกันเหตุด้วยการให้ความรู้กับทั้งเจ้าของกิจการและแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้แรงงานประเภทนี้” ผบก.ปคม. กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เร่งปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม บก.ปคม. ไม่ได้มุ่งเน้นการจับกุมแรงงานต่างด้าว เนื่องจากงานประมงยังต้องใช้แรงงานประเภทนี้เป็นหลัก แต่เป็นการมาขอความร่วมมือผู้ประกอบการธุรกิจประมงให้ช่วยสอดส่องดูแลผู้ประกอบการบางรายที่อาจจะมีการหลอกลวงแรงงานต่างด้าวมาบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส

ตัดวงจรค้ามนุษย์ ล่อลวงใช้แรงงานตังเก

 

พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้สั่งห้ามนำเข้ากุ้งและอาหารทะเลจากไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีรายงานว่า ไทยมีการใช้แรงงานเด็กและกดขี่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง เราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ตรวจสอบไต้ก๋ง ซึ่งหากพบว่ามีการรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่นายหน้านำมาหลอกขายให้ทำงานในเรือประมง ก็ขอให้แจ้งเบาะแสกับทางเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา แต่หากมีการมาร้องทุกข์ว่ามีการหลอกแรงงานไปทำประมงก็จะดำเนินคดีทันที ทั้งกับตัวไต้ก๋งและเจ้าของกิจการ

พล.ต.ต.ชวลิต เปิดเผยถึงเส้นทางและวิธีการของขบวนการเหล่านี้ว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นแรงงานจากประเทศพม่าที่ถูกหลอกมาทำงานในเมืองไทย โดยอ้างว่ามีรายได้ดี เมื่อลักลอบเข้าประเทศมาแล้วก็จับพาลงเรือประมงทันที ทั้งหมดจะถูกบังคับให้ทำงานหนัก แต่ได้รับรายได้น้อย หรือบางรายไม่ได้เลย เนื่องจากนายหน้าได้เอาเงินไปก่อนล่วงหน้าแล้ว แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ เพราะต้องทำงานอยู่กลางทะเล และบางครั้งก็ถูกขายต่อไปยังเรือลำอื่นๆ อีกด้วย

เขากล่าวต่อว่า การหลอกลวงแรงงานอีกประเภทเกิดขึ้นกับคนไทย โดยขบวนการที่เป็นนายหน้าหางานจะออกหาเหยื่อบริเวณหัวลำโพงและสถานีขนส่งเป็นหลัก โดยจะเข้าไปตีสนิทและอ้างว่าจะหางานทำให้มีรายได้ดี เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะชวนไปดื่มสุรา และมอมเหยื่อจนเมาไม่รู้ตัว หรือไม่ก็วางยาสลบ ก่อนที่จะนำตัวไปส่งให้กับเรือประมงแล้วเก็บค่านายหน้า หรือไม่ก็ค่าแรงล่วงหน้า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่นิยมทำกันมาก เหยื่อหลายคนรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในเรือกลางทะเลแล้ว ก่อนที่จะเอาตัวไปทำงานบนเรือขนาดใหญ่ จากนั้นก็จะถูกบังคับให้ใช้แรงงานเช่นเดียวกัน

“ทั้งสองกรณีนี้ผู้ประกอบการจะจ่ายเงินค่านายหน้าจริง บางคนก็ไม่รู้ คิดว่าหาแรงงานมาโดยสมัครใจ จึงใช้บริการนายหน้าเหล่านี้มาโดยตลอด เราจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตรวจสอบด้วย เพราะบางครั้งไต้ก๋งก็ไม่ได้แจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบ ที่สำคัญแรงงานพวกนี้เมื่อกลับขึ้นฝั่งแล้วก็จะกลับบ้านโดยไม่ได้มาแจ้งตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นกระทรวงแรงงานควรจะเข้าไปตรวจสอบด้วย หากพบความผิดปกติ ตำรวจก็จะได้เข้าไปดำเนินคดี” พล.ต.ต.ชวลิต กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ขณะนี้ตำรวจได้ร่วมแก้ปัญหากับกระทรวงแรงงานแล้ว โดยการเปิดจุดบริการจัดหาแรงงานประมงใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ตราด ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล เพื่อไม่ให้ไปใช้บริการนายหน้าเถื่อน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำลังประสานกับเวียดนามและบังคลาเทศ มาเพิ่มเติมจากแรงงานพม่า เพื่อตกลงค้าแรงงานกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีประสบการณ์ในการทำประมง ซึ่งเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยให้สถานการณ์การหลอกลวงแรงงานมีภาวะที่ดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การสอบสวนคดีประเภทนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง เราใช้วิธีการแยกเหยื่อให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งไต้ก๋งและผู้ประกอบการ เนื่องจากบางครั้งลูกเรือประมงอาจจะโกรธแค้นที่ถูกหักเงิน หรือถูกทำโทษ จึงมาแจ้งตำรวจ พนักงานสอบสวนจึงต้องสอบปากคำให้ชัดเจน โดยมีนักจิตวิทยาและอัยการร่วมสอบสวนด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย” พล.ต.ต.ชวลิต กล่าว

ด้าน นายศาวงษ์ จุ้ยเจริญ ประธานชมรมเรือประมงอวนดำสมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากอุตสาหกรรมประมงในสมุทรสาครยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไม่ได้รับความสนใจจากแรงงานไทย แต่ยืนยันว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาสมัครทำงานเอง ผู้ประกอบการเรือประมงไม่ได้บังคับขู่เข็ญและไม่ผ่านคนกลาง โดยเรือประมงในพื้นที่ก็จะเป็นลักษณะออกเรือตอนเช้าแล้วกลับเข้าฝั่งในตอนเย็น นอกจากนี้หากแรงงานคนใดต้องการจะขาดหรือจะลาออกก็สามารถทำได้ โดยไม่หน่วงเหนี่ยวกักขังไว้

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์แก้ปัญหาแรงงาน 7 จังหวัด โดยให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในด้านการประมง ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาปัญหาแรงงานในเรือประมง พร้อมทั้งเป็นการตัดวงจรการค้ามนุษย์ไปในตัวด้วย โดยศูนย์แก้ปัญหาแรงงานในภาคประมงจะเร่งดำเนินการผลักดันให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วน นายสุวรรณ์ ดวงตา เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีนโยบายให้มีการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้แรงงานจังหวัดเร่งกวดขันจับกุมนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมาย จากนั้นให้ดำเนินการส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ก่อนที่จะให้แรงงานนั้นๆ กลับเข้ามาในประเทศอย่างเป็นระบบด้วยการทำพาสปอร์ต และขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย