posttoday

สมาร์ตโปลิศ ออนไลน์สกัดอาชญากรรม

21 พฤศจิกายน 2555

เพราะโลกออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถเชื่อมโยงถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วแม่นยำ

เพราะโลกออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถเชื่อมโยงถึงข้อมูลอย่างรวดเร็วแม่นยำ

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ผู้คนทั่วไปต่างก็มีโทรศัพท์มือถือติดตัวไว้ส่งรับข้อมูล รวมถึงบอกเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเองประสบพบเจอให้สังคมออนไลน์รับทราบหรือให้เห็นกัน

สอดรับกับตำรวจนครบาลที่เข้าใจในจุดนี้ดี ก็ต้องทันเกมไม่ให้ตกขบวน จึงบรรลุไอเดียเปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเสียเลย ตามโครงการ Smart Police Social Network (สมาร์ต โปลิศ โซเชียล เน็ตเวิร์ก)

กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (บก.น.4) ก็ประเดิมรูปแบบการจัดทำเว็บเพจรับแจ้งภัยหรือเหตุอาชญากรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เกริ่นไว้ก่อนว่า บก.น.4 มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 8 โรงพัก คือ สน.โชคชัย บางชัน บึงกุ่ม ประเวศ ลาดพร้าว วังทองหลาง หัวหมาก และอุดมสุข

แน่นอนว่าในพื้นที่ทั้งหมดต่างมีเหตุอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกวัน การแจ้งเหตุที่รวดเร็วสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ฉับไวของตำรวจผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าระงับเหตุร้าย

พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 เล่าว่า การเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งเหตุผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.police.au.edu/smartpolice.html ซึ่งประชาชนคลิกเข้าไปตามเว็บไซต์นี้ หรือค้นหาคำว่า กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ในกูเกิล ก็จะพบเว็บไซต์นี้ด้วย เมื่อเข้าไปแล้วจะมีเว็บบอร์ดให้คลิกเข้าไปได้ เพื่อกรอกข้อมูลและตรวจสอบหรือแจ้งเหตุให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ บก.น.4 ได้ทันที เรียกว่าเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับตำรวจตามเป้าของ ผบ.ตร.ที่วางไว้ คือ

1.การรับแจ้งเหตุให้ประชาชนภายในพื้นที่มีส่วนร่วมและเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชน

2.แจ้งเบาะแสเมื่อพบสถานที่หรือบุคคลต้องสงสัยแล้วแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อป้องกันอาชญากรรมโดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ

3.ประชาสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรม โดยให้ความรู้ในการป้องกันอาชญากรรมผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก

“นอกจากเว็บบอร์ดแล้ว ยังมีระบบอื่นๆ ที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุเข้ามาได้ ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และการสื่อสารผ่านระบบไลน์ (Line) ซึ่งทุกระบบจะมีศูนย์สั่งการ หรือวอร์รูมของ บก.น.4 เข้ารับข้อมูลตลอดเวลา และสามารถแจ้งไปยังหน่วยที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด” ผบก.น.4 เล่า

ผู้การนัยวัฒน์ ยังบอกอีกว่า นอกจากเป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสอาชญากรรมได้แล้ว ความคิดตามรูปแบบ Smart Police Social Network ยังเปิดรับสมาชิกที่เป็นประชาชนทั่วไปร่วมเป็นหูเป็นตากับตำรวจในแต่ละท้องที่ เช่นของ สน.หัวหมาก ที่มีสมาชิกเครือข่ายประมาณ 1 แสนคนแล้ว ทำให้อาชญากรรมในท้องที่ลดลง เพราะเบาะแสจากประชาชนผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้จับกุมคนร้ายได้บ่อยครั้ง

สำหรับศูนย์รับส่งข้อมูล แน่นอนว่าเอากำลังตำรวจไปเฝ้าดูแลก็คงไม่เพียงพอเป็นแน่ ดังนั้น พล.ต.ต.นัยวัฒน์ จึงประสานไปยังมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคให้ช่วยอบรมนักศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของเอแบคเองมาช่วยดูแลข้อมูลผ่านระบบด้วย ที่สำคัญโครงการดังกล่าวยังถือเป็นองค์ประกอบในการประเมินการทำงานขององค์กรภาครัฐ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะทางเอแบคเองก็ช่วยแปลข้อมูลในการแจ้งเบาะแสระหว่างตำรวจและประชาชน เพื่อให้ตำรวจทุกนายในพื้นที่สามารถดูแลชาวต่างชาติและประชาชนได้อย่างทั่วถึง

“ภาพรวมทั้งหมดก็เพื่อให้ปัญหาอาชญากรรมลดน้อยลงไป และการจับกุมก็สามารถทำได้ทันท่วงทีผ่านเบาะแสที่ช่วยกันแจ้งจากประชาชน ตำรวจเหมือนจะได้เป็นลายแทงนำไปสู่คนร้ายได้เร็วที่สุด อีกทั้งที่ผ่านมาประชาชนมีความกระตือรือร้นในการบริโภคสื่อออนไลน์ และช่วยกันแจ้งเหตุแจ้งเบาะแสเข้ามา ซึ่งจะสามารถพัฒนางานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ให้ลดไปได้อย่างแน่นอน” ผบก.น.4 ย้ำทิ้งท้าย

ระยะแรกให้ทั้ง 8 สน. จัดทำเฟซบุ๊กของแต่ละ สน.ขึ้นมา แล้วจัดส่งกำลังตำรวจลงพื้นที่เข้าไปชักชวนประชาสัมพันธ์ให้มาเป็นแฟนเพจหรือสมาชิกในเฟซบุ๊กของตนเอง เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจ นักศึกษา และผู้พักอาศัยตามหอพัก คอนโดมิเนียม แฟลต และอพาร์ตเมนต์ต่างๆ เพราะเป้าเหล่านี้จะใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ทุกวัน และที่สำคัญอาชญากรรมต่างๆ ในชุมชนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งตามหอพัก หรือแม้แต่บริเวณสถานศึกษาในพื้นที่ บก.น.4 เอง หากเกิดเหตุแล้วแจ้งเร็ว หรือชี้เบาะแสได้ทัน ก็นำไปสู่การจับกุมหรือระงับเหตุได้ทันท่วงที

ตามชื่อที่บอกไว้ว่า สมาร์ต โปลิศ โซเชียล เน็ตเวิร์ก ตำรวจก็ต้องรอบรู้ในทุกด้าน พร้อมรับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะอย่างไร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดีที่น่าจะนำไปเป็นตัวอย่าง