posttoday

งบเด็กเล็กต่ำติวเตอร์ฉุดลงเหว

20 พฤศจิกายน 2555

นักวิชาการวิพากษ์ติวเตอร์ สร้างความเหลื่อมล้ำการศึกษา

นักวิชาการวิพากษ์ติวเตอร์ สร้างความเหลื่อมล้ำการศึกษา

นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักวิชาการเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่มาก โดยเด็กเล็กได้รับการสนับสนุนงบน้อยกว่าเด็กโต ค่าเฉลี่ยที่เด็กในโรงเรียนได้รับ คือ 2.4 หมื่นบาท/คน/ปี

ขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับงบสนับสนุน 3.1 หมื่นบาท/คน/ปี และมีเด็กเพียง 54.8% เท่านั้น ที่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการใช้จ่าย 75% ให้ความสำคัญไปที่บุคลากร การลงทุนและงบดำเนินงานของโรงเรียน ขณะที่งบประมาณที่ให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เรียนโดยตรงนั้นคิดเป็น 25% เท่านั้น

“อยากให้ภาครัฐจัดสรรงบอย่างทั่วถึง ให้ความสำคัญลงไปที่กลุ่มเด็กเล็กให้มากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับมาตรการสำหรับเด็กปฐมวัยมากขึ้น เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ” นายแบ๊งค์ กล่าว

นอกจากนี้ ด้านคุณภาพการศึกษาเด็กส่วนใหญ่ที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นมาจากครอบครัวมีฐานะ โดยภาคอีสานและภาคใต้มีโอกาสได้เรียนน้อยที่สุดและมีระดับสติปัญญา (ไอคิว) น้อยที่สุด ขณะที่ประชากรในกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีไอคิวสูงสุดและมีโอกาสเรียนสูงสุด เด็กในชนบท (นอกเขตเทศบาล) มีโอกาสได้เรียนน้อยกว่าเด็กในเมือง (ในเขตเทศบาล)

ด้านนางออรา โคว จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวระหว่างงานเสวนานานาชาติทางการศึกษา ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการเรียนในห้องถูกแทนที่ด้วยระบบการศึกษาเงา หรือค่านิยมการเรียนติวที่กลายเป็นปัญหาระดับโลก การพึ่งระบบติวทำให้ผู้เรียนไม่ใฝ่รู้ สนใจแค่ให้ได้คะแนนสูงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

นางออรา กล่าวว่า การเรียนติวจึงไม่ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น สร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผู้เรียนที่มีฐานะดีมีโอกาสมากกว่า โดยในฮ่องกงผู้เรียนพิเศษในชั้น ม.1 ถึง 54% อินเดีย 80%

“ครูติวเตอร์เปรียบได้กับดารา แต่ละสถาบันมีนโยบายดึงดูดลูกค้า โดยเด็กที่คะแนนดีเป็นแม่เหล็กดึงดูดเด็กคนอื่นๆ แม้ผลวิจัยยืนยันว่า เด็กไม่ได้อยากเรียนติว แต่เมื่อคนอื่นเรียนก็กลายเป็นค่านิยม ในประเทศไทยก็มีการกวดวิชาทุกหัวระแหง” นางออรา กล่าว