posttoday

โพลเผยคนไม่สนแก้ความรุนแรงในครอบครัว

19 พฤศจิกายน 2555

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยผลโพลชี้ประชาชนไม่สนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชื่อสื่อออนไลน์-ละคร มีอิทธิพล

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยผลโพลชี้ประชาชนไม่สนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชื่อสื่อออนไลน์-ละคร มีอิทธิพล

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล   ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า ผลสำรวจ“สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว”จากกลุ่มตัวอย่าง 1,005 ราย โดยมูลนิธิฯลงพื้นที่ระหว่าง 20 ต.ค.-10 พ.ย.ใน 8จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ชุมพร และกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และพนักงานบริษัท ซึ่งความเข้าใจต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขณะเดียวกัน19% ยังมองว่าการทะเลาะ การทุบตีในครอบครัวเป็นเรื่องปกติธรรมดา

อย่างไรก็ตามเกือบครึ่ง หรือ 42.8%ไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเลย และสถานที่ที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด 51.1%เพื่อนบ้าน/ชุมชน  รองลงมา 35% พื้นที่จากสื่อโทรทัศน์/หนังสือพิมพ์ และ11% พบเห็นในครอบครัวตนเอง 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง 67.7% มองว่าสื่อละคร สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรง และที่สำคัญ 78.1% คิดว่ามาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ สอดคล้องกับงานวิจัยของ รพ.รามาธิบดีที่พบว่า ในครอบครัวที่มีคนดื่มสุรา จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นประมาณ4เท่า

“เมื่อถามถึงการรับรู้รับทราบพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 80.8 % รู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง แต่ไม่รู้รายละเอียด  และ 77.8% ทราบว่ามีหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆค่อยให้คำแนะนำ แต่ปัจจัยที่ตอกย้ำทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือเนื่องจาก42.1%อาย 37% ไม่รู้ช่องทางขั้นตอนการรับคำปรึกษา 16.4% ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะช่วยเหลือได้จริง และ4.5%กลัวมีปัญหากระทบต่อหน้าที่การงาน กลัวถูกตำหนิ ไม่อยากให้คนอื่นรู้”นายจะเด็จ กล่าว

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่างมากถึง 85.6% ต้องการให้ผู้ถูกกระทำออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง และ89.2%ระบุว่ากฎหมายต้องบังคับใช้จริงจัง 78.8% ชุมชนควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ81% สื่อละครสื่อออนไลน์ไม่ควรยั่วยุหรือส่งเสริมพฤติกรรมเลียนแบบการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสะท้อนว่า แม้ประชาชนจะรู้ว่ามีกฎหมาย แต่ไม่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ เพราะไม่มั่นใจในระบบบริการ เช่น อายจึงต้องยอมจำนน หรือตำรวจบางคนมองเป็นเรื่องส่วนตัวไม่รับแจ้งความ

ทั้งนี้หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันครอบครัวและสำนักงานกิจการสตรี ควรทำงานร่วมกัน ประชุมร่วมกันเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ขณะเดียวกันต้องสื่อสารให้ผู้ถูกกระทำทราบและเข้าใจเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น  เพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำออกมาใช้สิทธิ และในปีนี้เราจึงใช้แนวคิด “รู้สิทธิ รู้ใช้” ในการรณรงค์   รู้สิทธิคือรู้สิทธิของตัวเองตามกฎหมาย  รู้ใช้คือรู้ว่ามีช่องทางช่วยเหลือ และพร้อมที่จะใช้กฎหมาย เพื่อหยุดความรุนแรง  ปกป้องตัวเองและแก้ปัญหาอย่างมีสติ

น.ส.อรุณี  ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจตัวบทกฎหมายของ พ.ร.บ.และมองว่าความรุนแรงเป็นคดีทั่วไปที่สามารถยอมความกันได้และเป็นเรื่องในครอบครัวหากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความศักดิ์สิทธิ์ตนเชื่อว่าจะสามารถลดผู้ที่จะกระทำความรุนแรงได้ และอยากให้หน่วยงานองค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชนด้วย

"อยากให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงกล้าที่จะออกมาร้องขอให้กฎหมายคุ้มครองตนเอง เลิกที่จะอาย และต้องติดตามคดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐหันมาใส่ใจกับคดีความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น"นางอรุณีกล่าว