posttoday

กมธ.ศึกษาฯลั่นเดินหน้าค้าน"เขื่อนไซยะบุรี"

15 พฤศจิกายน 2555

กมธ.ศึกษาฯ วุฒิสภาลั่นเดินหน้าค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี ชี้สร้างไม่สอดคล้องกับข้อตกลงฯ หลายหน่วยงานยื่นหนังสือค้าน

กมธ.ศึกษาฯ วุฒิสภาลั่นเดินหน้าค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี ชี้สร้างไม่สอดคล้องกับข้อตกลงฯ หลายหน่วยงานยื่นหนังสือค้าน

กมธ.ศึกษาฯลั่นเดินหน้าค้าน"เขื่อนไซยะบุรี"

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้องรับรอง 1-2 ได้จัดการเสวนาเรื่อง “เขื่อนไซยะบุรีเดินหน้า อนาคตแม่น้ำโขง” โดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนางสาวสุมล  สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนา

จากรายงานผลการศึกษาการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของคณะอนุกรรมาธิการฯ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำทะเลและชายฝั่ง เป็นรายงานที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรีนั้นยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านเพียงพอ และยังไม่มีคำตอบว่าหากมีผลกระทบข้ามพรมแดนเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในการป้องกัน แก้ไข และเยียวยา โดยการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุริเป็นโอกาสที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถจัดหาซื้อไฟฟ้าได้ในราคาถูก

นายมนตรี  จันทวงศ์ อนุกรรมาธิการฯ ได้เผยข้อสรุปการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยมีความเห็นว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรี ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขมติครม.เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2554 คือต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนากลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนพ.ศ.2538 และการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างกฟผ.กับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 นั้น ยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามมติครม. เรื่อง ให้สนพ.และกฟผ. เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นไปอย่างสมบูรณ์และทั่วถึง ทั้งนี้ตัวแทนของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้แทนปลัดกระทรวงพลังงานและผู้แทนกฟผ.ไม่ได้เข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้

ขณะเดียวกันได้เผยข้อมูลการซื้อไฟฟ้าของประเทศไทยจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีว่า ขั้นตอนทั้งหมดนั้นเริ่มมาจากสปป.ลาว ได้แจ้งต่ออนุกรรมาธิการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้สิทธิ์พัฒนาโครงการนี้แก่บริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทของไทย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2554 จากนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี (Tariff MoU) ระหว่างกฟผ. กับ บริษัท ช.การช่าง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2553 และครม.มีมติอนุมัติให้กฟผ.ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2554 อีกทั้งเมื่อ 11 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบประมาณ 12,060 ล้านบาทในการก่อสร้างสายส่งในประเทศไทย ระยะทาง 225 กิโลเมตร ในเส้นทางท่าลี่ – เลย – หนองบัวลำภู – ขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้านั้น กฟผ.ได้ประกันรับซื้อไฟฟ้า 5,709 ล้านหน่วยต่อปี ตลอดอายุสัญญา 29 ปี เพราะฉะนั้นรวมเงินค่าไฟฟ้ากว่า 370,000 ล้านบาท โดยสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค. 2590 หรือ 29 ต.ค. 2591

ในส่วนของภาคประชาชนนั้น นายนิวัติ  ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้แสดงความห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ท้ายว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตั้งแต่เขื่อนจิ่งหง ในประประเทศจีนแห่งแรกนั้น ก็ส่งผลกรทบอย่างชัดเจนต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงส่วนล่าง เปลี่ยนแปลงระดับของน้ำให้ไม่ตรงตามฤดูกาล ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาในแม่น้ำโขง

“นี่คือเรื่องใหญ่ เพราะผมเป็นคนท้ายน้ำ เมื่อเขื่อนเกิดขึ้นผลกระทบก็เห็นกันชัดเจน สร้างเขื่อนก็ต้องมีการกักน้ำก็ทำให้น้ำแห้งขอด ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมีเขื่อนตัวที่สอง น้ำก็ขึ้นลงตามที่เขื่อนจะปิดจะเปิด สามวันขึ้น สามวันลง ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะปลาในฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่ เพราะระดับน้ำที่ผิดปกติ จึงส่งผลต่อคนหาปลา มันวิปริตแล้ว” นายนิวัติกล่าว

ในด้านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีหนังสือเลขที่ ทส 1009.6/2277 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ขอให้พิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และล่าสุดวันนี้โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง / มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติร่วมกับตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร (นายนริศ ขำนุรักษ์) เรื่องขอให้ตรวจสอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่อาคารรัฐสภา 3 เวลา 14.00 น.อีกด้วย

ทั้งนี้เขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการแรงใน 12 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โครงการนี้มีขนาดการผลิต 1,260 เมกกะวัตต์ เป็นสัมปทานจากรัฐบาลสปป.ลาวโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าฝ่ายไทย ลงนามโดยกฟผ. และไฟฟ้าร้อยละ 95 จากโครงการนี้ส่งมาขายยังประเทศไทย โดยวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา สปป.ลาว ได้มีการประกาศเปิดการก่อสร้างเชื่อนอย่างเป็นทางการ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน – ยุโรป (อาเซ็ม) เป็นสัญญาณการเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อไป