posttoday

อนาถ!ชีวิตชาวเลไร้ที่อยู่ที่กิน

10 พฤศจิกายน 2555

ชีวิตชาวเลไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน ตายในโรงพยาบาลเอาศพออกมาไม่ได้เพราะไม่มีเงินจ่าย เดือดร้อนอาจารย์จุฬาต้องเอาเงิน 5 พัน ดาวน์ศพออกมาแล้วให้ญาติ ไปผ่อนทีหลัง

ชีวิตชาวเลไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน ตายในโรงพยาบาลเอาศพออกมาไม่ได้เพราะไม่มีเงินจ่าย เดือดร้อนอาจารย์จุฬาต้องเอาเงิน 5 พัน ดาวน์ศพออกมาแล้วให้ญาติ ไปผ่อนทีหลัง

เมื่อวันที่  10 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนไทย ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร สำนักกิจการชาติพันธุ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรรม สำนักงานปฏิรูป ภาคีเครือข่ายชาวเล จัดงานเสวนา  วิกฤตวิถีชาวเล

โดยนายศักดิ์ชัย จลุทั้งสี่ เยาวชนชาวเล  กล่าวถึงปัญหาของชาวเลทั้งในส่วนของชาวมอแกน มอแกลน และอุรักลาโว้ยว่า ขณะนี้ชาวเลกำลังได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินอย่างมาก หลังจากสถานการณ์การท่องเที่ยวได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยเกิดขึ้นในส่วนของบนบก เช่น ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะถูกฟ้องไล่ที่จากภาคเอกชนและรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว  รวมทั้งมีปัญหาเรื่องพื้นที่ฝังศพ หรือสุสานด้วย เนื่องจากชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์เดิมไม่มีเอกสารในการครอบครองที่ดิน จึงต้องถูกผู้ประกอบการรีสอร์ตและโรงแรมผลักไสให้ย้ายถิ่นฐาน

“จากการที่ได้ฟังเสียงจากคนแก่คนเฒ่าในพื้นที่นั้น ทราบว่า  สุสานและที่ฝังศพอันเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวเลนั้น มีมานานกว่า 100 ปี แต่กลุ่มนายทุนที่เข้ามายื่นฟ้องไล่ชาวบ้านจะมีฉโนดที่ดินในการถือสิทธิ์ครอบครอง ซึ่งมีมานานกว่า 40 ปี  ไม่เข้าใจเช่นกันว่า พวกเขาได้รับเอกสารมาอย่างไร แต่ทำไมชาวเลในพื้นที่จึงต้องถูกขับไล่เรื่อยมา” ศักดิ์ชัย กล่าว

อนาถ!ชีวิตชาวเลไร้ที่อยู่ที่กิน

นางปรีดา คงแป้น ผู้ประสานงานมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของกลุ่มชาวเล ที่ถือเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย คือ การไม่มีสิทธิ ไม่มีสวัสดิการใดๆ เพราะไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มคนดังกล่าว แม้จะอยู่ในแผ่นดินไทยมานับร้อยปี แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับบัตรประชาชน รวมกับวิถีการดำรงชีวิต ที่มีการย้ายถิ่นฐานบ่อย ทำให้เกิดการตกสำรวจ เมื่อทางการมีการสัมมะโนประชากรแต่ละปี ไม่มีการพิสูจน์สิทธิสัญชาติ กระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน จึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง คนกลุ่มนี้จึงไม่มีสิทธิและสวัสดิการใดๆในสังคมทั้งสิ้น

นางปรีดา กล่าวว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ชาวมอแกนคนหนึ่ง ชื่อนายแตแบน บางจาก อายุ 70 ปี อยู่ที่หมู่บ้านราไวย์ ป่วยด้วยโรควัณโรคขั้นรุนแรง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ญาติพี่น้อง ไม่สามารถเอาศพออกมาประกอบพิธีกรรมได้ เพราะติดค้างการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเงิน 50,000 บาท พอดีมีอาจารย์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ลงพื้นที่ทำงาน ได้ช่วยประสานงานกับทีมงานของ ศ.ธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล หัวหน้าโครงการทำงานด้านยุทธศาสตร์ภัยพิบัติ ซึ่ง ศ.ธนวัฒน์ ได้บริจาคเงินมาให้ 5,000 บาท ให้นำไปมอบให้กับโรงพยาบาลก่อน เพื่อนำศพกลับไปทำพิธี แล้วให้ญาติของนายแตแบน ลงชื่อทำสัญญาผ่อนส่งกับทางโรงพยาบาล เพื่อจ่ายเงินให้ครบ โดยผ่อนส่งเดือนละ 500 บาท

“ตอนนี้ ก็ยังผ่อนชำระอยู่ ใครได้ยินเรื่องราวแบบนี้ ต่างก็สะเทือนใจ ตอนมีชีวิตอยู่ เหมือนคนไร้ค่า เมื่อตายไปกลับกลายเป็นว่า ศพเขามีราคา ต้องเอาเงินไปดาวน์ศพออกมาก่อน แล้ว ค่อยๆผ่อนทีหลัง ซึ่งการผ่อนศพเดือนละ 500 บาท อาจจะดูไม่มากสำหรับคนอื่น แต่สำหรับชาวบ้านเหล่านี้ถือว่าเงินจำนวนมาก ถามว่า ทำไมโรงพยาบาล ไม่มีแผนกสงเคราะห์ผู้ยากไร้หรือ เขาก็ตอบว่า มีแต่มีเฉพาะผู้ยากไร้ที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น ในกรณีนี้ ดิฉันมองว่าเป็นปัญหามาก เพราะการป่วยเป็นวัณโรคถือว่าเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคอาจจะระบาดลุกลามในชุมชนได้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่า กรณีแบบนี้ ไม่ใช่รายแรก และรายสุดท้าย”นางปรีดา กล่าว

นางปรีดา กล่าวว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ กลุ่มชาวเล ทั้งหมด จะไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกฯเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด

อนาถ!ชีวิตชาวเลไร้ที่อยู่ที่กิน

นส.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการ สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของชาวเล เป็นเรื่องของกลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีค่ายิ่งใหญ่ ซึ่งปัญหาของคนกลุ่มนี้ สังคมจะมองข้าม โดยมองว่า เป็นเรื่องเล็กเกินไป ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ในขณะที่หากศึกษาและเรียนรู้กับวิถีของคนเหล่านี้ พบว่า วัฒนธรรม องค์ความรู้และวิถีชีวิต มีคุณค่าแก่การศึกษาและรักษาเอาไว้อย่างยิ่ง

“ตอนนี้พวกเขาเหมือนกับหลังพิงฝา เพราะทุกฝ่ายที่จะต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไรเต็มที่มากนัก ถามว่า สังคมจะสูญเสียอะไรบ้าง หากชาวเล หายไปจากประเทศไทย ตอบว่า แล้วทำไมเราถึงพูดกันตลอดเวลาว่า เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญมากระบบธรรมชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทีสำคัญมาก พวกเขามีความรู้ในธรรมชาติของทะเลมากจนบางเรื่องนักวิชาการเองต้องตกใจ เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การจำแนกลักษณะคลื่น ลักษณะโขดหินในทะเล ในแนวปะการัง แต่ในบางครั้งเราก็แปลภาษาที่เขาสื่อสารมาไม่ได้ ซึ่งต้องศึกษากันอีกมากมาย นอกเหนือไปกว่านั้นคือ ความเป็นมนุษยชาติที่เขากับเราเป็นเหมือนกัน แต่สิ่งที่สังคมคิดและปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ เหมือนกับพวกเขาไม่ใช่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก”นส.นฤมล กล่าว

อนาถ!ชีวิตชาวเลไร้ที่อยู่ที่กิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีชุมชนชาวเลประมาณ 41 ชุมชน จำนวน 2,758 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 12,000 คน กระจายใน 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต 5 ชุมชน, พังงา 20 ชุมชน, ระนอง 3 ชุมชน, กระบี่ 10 ชุมชน, และสตูล 3 ชุมชน

แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มมอแกน  อาศัยในพื้นที่เกาะเหลา, เกาะสินไห, เกาะช้าง  และเกาะพยามใน จ.ระนอง  หมู่เกาะสุรินทร์ ใน จ.พังงา  และบ้านราไวย์ในจ.ภูเก็ต มีประชากรกว่า 2,100 คน 2. กลุ่มมอแกลน เป็นกลุ่มที่อาศัยตั้งบ้านเรือนชายฝั่งทะเล มีวิถีชีวิตผสมผสานกับสมัยใหม่  เช่น หมู่บ้านชาวเลชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา  ภูเก็ต  และ เกาะพระทอง ประชากร 3,700 คน และ 3. กลุ่มอูรักลาโว้ย เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจากมอแกน และมอแกลน  เป็นกลุ่มที่อาศัยตามเกาะต่างๆ ในจ.สตูล ภูเก็ตบางส่วน และกระบี่ เช่น เกาะลันตา  เกาะ พีพี  ฯลฯ  มีประชากรกว่า 6,200 คน 

กลุ่มชาวเลต่างๆ เหล่านี้จะประสบปัญหาคล้ายๆ กันคือ ถูกนายทุนฟ้องร้องเพื่อให้ย้ายออกจากพื้นที่ โดยอ้างเอกสารสิทธิทำกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งหลายแห่ง เป็นที่ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่ชาวเลอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม แต่อุทยานเพิ่งจะมาประกาศทีหลัง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหล่านั้นของอุทยาน ก็ถูกเอกชนรุกรานเข้ามาสร้างบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ต จนมีการฟ้องร้องกันในขณะนี้