posttoday

สธ.ยันวัคซีนไข้คอตีบไม่ขาดแคลน

09 พฤศจิกายน 2555

สธ.ยืนยันวัคซีนไข้คอตีบไม่ขาดแคลน สั่งอภ.จัดหา 13 ล้านโด๊ส

สธ.ยืนยันวัคซีนไข้คอตีบไม่ขาดแคลน สั่งอภ.จัดหา 13 ล้านโด๊ส

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคคอตีบ เปิดเผยว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนไข้คอตีบขาดแคลนอย่างแน่นอน โดยขณะนี้สธ.ได้สำรองไว้ประมาณ 7 แสนโด๊ส สำหรับฉีดให้แก่เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนในพื้นที่พบผู้ป่วย นอกจากนี้ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อแผนการใช้ตั้งแต่เดือนพ.ย.2555 – พ.ค.2556 รวมทั้งสิ้น 13 ล้านโด๊ส

“โรคนี้มียารักษาหายขาด และเป็นยาปฏิชีวนะที่มีในโรงพยาบาลทุกแห่งอยู่แล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่าอัตราการแพร่กระจายของเชื้อชะลอตัวลง โดยตั้งแต่ 1 มิ.ย. – 9 พ.ย.2555 ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อโรคคอตีบรวม 36 ราย เสียชีวิต 2 ราย และพบการระบาดทั้งสิ้น 16 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ พิจิตร หนองคาย บึงกาฬ ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร นครราชสีมา และสุราษฎรธานี

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง และได้ส่งทีมแพทย์เชี่ยวชาญไปฟื้นฟูความรู้ด้านการวินิจฉัยโรคแก่ทีมแพทย์ พยาบาลในพื้นที่ 16 จังหวัดที่พบการระบาด และในวันที่ 14 พ.ย.นี่ จะจัดอบรมแพทย์อายุรกรรม กุมารแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันควบคุมโรค จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานเดียวกัน

นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคคอตีบเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคแต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ และเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นจำเป็นต้องวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการวางแผนการควบคุมการระบาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และระบุพื้นที่ที่ต้องการควบคุมได้ชัดเจนไม่ให้กระจายสู่พื้นที่อื่นๆ

นพ.ทวี โชติพิทยาสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กล่าวว่า การกลับมาระบาดของโรคคอตีบ ถือเป็นสัญญาณเดือนให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการล้อมกรอบควบคุมโรคให้หมดไปจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ได้โดยเร็ว โดยพื้นที่เสี่ยงคือพื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาดของโรค คนกลุ่มเสี่ยงต่อโรค คือ เด็กเล็กและผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบมาก่อน