posttoday

รณรงค์ทอดกฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า

30 ตุลาคม 2555

กทม.-สสส.-สคล.เดินหน้ารณรงค์ทอดกฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า สั่ง 50 เขตในกรุงเทพฯจัดงานบุญปลอดน้ำเมา พร้อมดึงกฎหมายห้ามดื่มบนรถ

กทม.-สสส.-สคล.เดินหน้ารณรงค์ทอดกฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า สั่ง 50 เขตในกรุงเทพฯจัดงานบุญปลอดน้ำเมา พร้อมดึงกฎหมายห้ามดื่มบนรถ

พญ.มาลินี  สุขเวชชวรกิจ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เป็นประธานในงานแถลงข่าว “งานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า..ชาว กทม.ทำได้ (ใช้กฎหมายเป็นตัวช่วย)” เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนทำบุญออกพรรษาทอดกฐิน–ผ้าป่า ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  จัดโดย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)

พญ.มาลินี  กล่าวว่า  หลังเทศกาลออกพรรษาจะมีการจัดทอดกฐิน ผ้าป่า ทั่วทุกภาค ชาวบ้านบางกลุ่มยังนิยมดื่มเหล้าระหว่างเดินทาง  ภายในงาน และภายในเขตวัด ทำให้งานบุญประเพณีอันดีงามต้องมัวหมองกับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง  เกิดภาพลักษณ์ไปในทางที่ไม่ดี  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มสุราในงานบุญ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสิ้นเปลืองแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอื่นตามมา เช่น หนี้สิน สุขภาพ ปัญหาครอบครัว อาชญากรรม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลบุญ กทม.จึงร่วมกับ สสส.และสคล. เร่งรณรงค์โดยอาศัยกฎหมายมาช่วยสนับสนุน คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 และ 31 ที่ห้ามขายห้ามดื่มสุราในวัดหรือศาสนสถาน  รวมถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามดื่มสุราบนรถทุกชนิด  ซึ่งทั้งสองมาตรการมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหลังจากนี้จะประสานไปยังสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขตให้ประชาสัมพันธ์กฎหมายและเชิญชวนประชาชนให้จัดงานบุญทอดกฐิน ผ้าป่าปลอดเหล้า

ขณะที่ นายธีระ  วัชรปราณี  ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)  กล่าวว่า  คนไทยถูกมองว่าเป็นชาติที่ชอบดื่ม  จนล่าสุดเราได้กลายเป็นตลาดอันดับ 3 ของวิสกี้ยี่ห้อดังระดับโลกไปแล้ว   ในขณะที่คนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี  ไม่เว้นแม้งานบุญ งานประเพณี  ทำให้ในช่วงเทศกาลงานบุญตัวเลขอุบัติเหตุบาดเจ็บพิการและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือประชาชนยังมองว่าการดื่มสุราในงานบุญเป็นเรื่องปกติ ไม่เกี่ยวกับบุญบาป มีเหล้าทำให้งานสนุก หรือกลัวแขกมาร่วมงานดูถูก  หากดูจากสถิติการเคยดื่มในงานบุญ ปี 2553 ที่สำรวจโดยศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ พบว่า 1 ใน 4 หรือ 24.3% ยังนิยมดื่มในงานทอดกฐิน และ19.5% นิยมดื่มในงานทอดผ้าป่า ดังนั้น การรณรงค์สร้างความเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเจ้าภาพ คนร่วมบุญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่ม เห็นความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย